การแพทย์แผนไทย
วิวัฒนาการการแพทย์แผนไทย
การแพทย์แผนไทย : ยุคก่อนอาณาจักรสุโขทัย
ศิลาจารึกของอาณาจักรขอม ได้จารึกไว้ว่าประมาณ พ.ศ. 1725 – 1729 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามความเชื่อในศาสนาพุทธ โดยสร้างสถานพยาบาลเรียกว่า “ อโรคยศาล “ ขึ้น 102 แห่งในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและบริเวณใกล้เคียง และกำหนดผู้ทำหน้าที่รักษาพยาบาลไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ หมอ , พยาบาล , เภสัช , ผู้จดสถิติ , ผู้ปรุงอาหารและยา รวม 92 คน รวมทั้งมีพิธีกรรมบวงสรวง พระไภสัชยคุรุไวฑูรย์ประภา ตามความเชื่อทางศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ด้วยการบูชา ด้วยยาและอาหาร ก่อนแจกจ่ายให้ผู้ป่วย ปัจจุบันมีอโรคยศาลที่ยังเหลือประสาทที่สมบูรณ์ที่สุดคือกู่บ้านเขว้าจังหวัดมหาสารคาม
การแพทย์แผนไทย:สมัยสุโขทัย
มีการค้นพบหินบดยาสมัยทวาราวดี ซึ่งเป็นยุคก่อนสุโขทัย และจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ได้บันทึกไว้ว่า ทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวงหรือเขาสรรพยา เพื่อให้ราษฎรได้เก็บสมุนไพรไปใช้รักษาโรคยามเจ็บป่วยปัจจุบันภูเขาดังกล่าวอยู่ในอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ในยุคนี้ศาสนาพุทธลัทธิหินยานมีบทบาทอย่างมาก พระภิกษุนิยมธุดงค์ ศูนย์รวมของวัฒนธรรมและการศึกษาอยู่ที่วัด เชื่อว่าพระภิกษุยุคนี้มีความรู้ในการรักษาตนเองด้วยสมุนไพรและช่วยเหลือแนะนำประชาชนด้วย
การแพทย์แผนไทย:สมัยอยุธยา
การแพทย์สมัยอยุธยามีลักษณะผสมผสาน ปรับประยุกต์องค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านทั่วราชอาณาจักร ผสมกับความเชื่อตามแนวปรัชญาแนวพุทธ รวมทั้งความเชื่อ ทางไสยศาสตร์และโหราศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของชุมชน
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบบันทึกว่ามีระบบการจัดหายาที่ชัดเจน สำหรับประชาชนมีแหล่งจำหน่ายยาสมุนไพรหลายแห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง มีการรวบรวมตำรับยาต่าง ๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย เรียกว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์ การแพทย์แผนไทยสมัยนี้รุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนวดไทย การแพทย์ตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาท โดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสได้จัดตั้งโรงพยาบาลรักษาโรคแต่ก็ขาดความนิยมและล้มเลิกไป
การแพทย์สมัยรัชกาลที่1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงปฏิสงขรณ์วัดโพธารามหรือวัดโพธิ์ขึ้นเป็นอารามหลวง ให้ชื่อว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และโปรดเกล้าฯให้รวบรวมและจารึกตำรายา ท่าฤๅษีดัดตน และตำราการนวดไทยไว้ตามศาลาราย มีการจัดตั้งกรมหมอโรงพระโอสถคล้ายกับในสมัยอยุธยา ผู้ที่รับราชการเรียกว่าหมอหลวง ส่วนหมอที่รักษาประชาชนทั่วไป เรียกว่าหมอราษฎรหรือหมอเชลยศักดิ์
การแพทย์สมัยรัชกาลที่2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้เหล่าผู้ชำนาญลักษณะโรคและสรรพคุณยา รวมทั้งผู้ที่มีตำรายาดี ๆ นำเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย และให้กรมหมอหลวงคัดเลือกและจดเป็นตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ พ.ศ.2395 โปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายชื่อว่า กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย
การแพทย์สมัยรัชกาลที่3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ อีกครั้งและโปรดเกล้าฯ ให้จารึกตำรายาบอกสมุฏฐานของโรคและวิธีรักษาไว้บนแผ่นหินอ่อน ประดับตามผนังโบสถ์และศาลาราย และทรงให้ปลูกต้นสมุนไพร ที่หายากไว้ในวัดเป็นจำนวนมากนับเป็นการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เพียงในวงศ์ตระกูลเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ยังทรงปฏิสังขรณ์วัดราชโอรสารามและได้จารึกตำราไว้ในแผ่นศิลาตามเสาระเบียงพระวิหาร
รัชสมัยนี้มีการนำการแพทย์แบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ โดยคณะมิชชันารีชาวอเมริกัน โดยการนำของนายแพทย์แดนบีช บรัดเลย์ ซึ่งคนไทยเรียกว่า หมอปรัดเลย์ ซึ่งนำวิธีการแพทย์แบบตะวันตกเข้ามาใช้ เช่น การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การใช้ยาเม็ดควินินรักษาโรคไข้จับสั่น เป็นต้น นับเป็นวิวัฒนาการการแพทย์แผนไทยและแผนตะวันตก
การแพทย์สมัยรัชกาลที่4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำการแพทย์แผนตะวันตกมาใช้มากขึ้น เช่น การสูติกรรมสมัยใหม่ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนความนิยมของชาวไทยได้ เพราะการแพทย์แผนไทยเป็นวิถีชีวิตของคนไทยเป็นจารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกันมา
การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่5
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดตั้งศิริราชพยาบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2431 ซึ่งมีการเรียนการสอนและให้การรักษาทั้งการแพทย์ แผนไทยและแผนตะวันตกร่วมกัน มีการพิมพ์ตำราแพทย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2438 ชื่อ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 1 – 4 ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นตำราแห่งชาติฉบับแรก ต่อมาพระยาพิษณุประสาทเวช ( หมอคง ) เห็นว่าตำรายาเหล่านี้ยากแก่ผู้ศึกษา จึงพิมพ์ตำราขึ้นใหม่ได้แก่ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง 2 เล่มและตำราแพทย์ศาสตร์สังเขป3เล่มซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังคงใช้มาจนทุกวันนี้
การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่6
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสั่งยกเลิกวิชาการแพทย์แผนไทย และมีประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติการแพทย์เพื่อควบคุมการประกอบโรคศิลปะ เพื่อป้องกันอันตรายอันเนื่องมาจากการประกอบการของผู้ที่ไม่มีความรู้และมิได้ฝึกหัด ด้วยความไม่พร้อมในด้านการเรียนการสอน การสอบ และการประชาสัมพันธ์ ทำให้หมอพื้นบ้านจำนวนมากกลัวถูกจับจึงเลิกประกอบอาชีพนี้ บ้างก็เผาตำราทิ้ง จะมีหมอแผนโบราณเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถปฏิบัติได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนับเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียที่ควรคำนึงถึง
การแพทย์แผนไทยสมัยรัชกาลที่7
กฎหมายเสนาบดี ได้แบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2485 – 2486 ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ลุกลามเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้ศึกษาวิจัยสมุนไพรที่ใช้รักษาไข้มาลาเรียที่โรงพยาบาลสัตหีบ หลังจากสงครามโลกสงบลง ยังคงมีปัญหาขาดแคลนยาแผนปัจจุบัน รัฐบาลจึงมีนโยบายให้องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ผลิตยาสมุนไพรเป็นยารักษาโรค
องค์กรเอกชนด้านการแพทย์แผนไทย
ปี พ.ศ. 2500 มีการก่อตั้งสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้นที่วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ นับแต่นั้นมาสมาคมต่าง ๆ ก็ได้แตกสาขาออกไป ปัจจุบันมีโรงเรียนแพทย์แผนโบราณที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
ปี พ.ศ. 2526 ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ แพทย์แผนปัจจุบันผู้ซึ่งเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของการแพทย์แผนไทยเป็นอย่างดี ได้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟูการแพทย์ไทยเดิมขึ้น ทำให้เกิดอายุรเวทวิทยาลัย ( ชีวกโกมารภัจจ์ ) ผลิตแพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์ หลักสูตร 3 ปี ในโอกาสต่อมา นับได้ว่า ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์ เป็นบิดาของการแพทย์แผนไทยแบบประยุกต์ ที่เปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยฟื้นตัวอีกครั้ง
http://benkyoshin-herbal.blogspot.com
No comments:
Post a Comment