Can't find it? here! find it

Friday, May 2, 2008

ภาพจำลองมนุษย์นีอันเดอร์ทัลวัยเด็ก (ภาพจากสถาบันมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยซูริค เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
โรเบิร์ต แม็คคาร์ธีย์ (ภาพจาก www.fau.edu)

ฟิล ลีเบอร์แมน(ภาพจาก www.cog.brown.edu)

อีริค ทรินเคาส์ (ภาพจาก media.collegepublisher.com)

จอห์น ฮอว์กส (ภาพจาก www.news.wisc.edu)

นิวไซเอนทิสต์-นักมานุษยวิทยาต่างปรารถนาที่จะได้ยินเสียงมนุษย์นีอันเดอร์ทัลที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 30,000 ปีก่อน ว่าจะเหมือนหรือต่างจากเสียงของเราอย่างไร ล่าสุดการสังเคราะห์เสียงมนุษย์โบราณด้วยคอมพิวเตอร์ก็สำเร็จไประดับหนึ่งแล้ว

โรเบิร์ต แม็คคาร์ธีย์ (Robert McCarthy) นักมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยฟลอริดาแอตแลนติก (Florida Atlantic University) ในโบคา ราตัน มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เปิดเผยระหว่างการประชุมประจำปีของสมาคมมานุษยวิทยากายภาพสหรัฐฯ ในเมืองโคลัมบัส มลรัฐโอไฮโอ เมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เขาได้ฟื้นสภาพช่องเสียง (vocal tract) ของนีอันเดอร์ทัลขึ้น

ทั้งนี้เขา พบว่ามนุษย์โบราณเหล่านี้สามารถออกเสียงได้แตกต่างเพียงเล็กน้อย ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเปล่งพลังจนสามารถสร้างเสียงสระในรูปแบบต่างๆ ได้ ทั้งที่การออกเสียงสระที่หลากหลายถือเป็นพื้นฐานสำคัญของภาษาพูด

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 (พ.ศ. 2513-2522) ฟิล ลีเบอร์แมน (Phil Lieberman) นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ในเมืองโพรวิเดนซ์ มลรัฐโรดไอส์แลนด์ ลงความเห็นว่าเพราะกล่องเสียงของมนุษย์นีอันเดอร์ทัลอยู่ติดกับกะโหลก ทำให้การพูดของนีอันเดอร์ทัลจึงไม่มีความละเอียดอ่อนเท่ากับมนุษย์สมัยใหม่อย่างเราๆ

ทว่านักวิจัยหลายคนก็ส่งเสียงวิจารณ์การค้นพบของลีเบอร์แมน ทั้งการอ้างหลักฐานทางมานุษยวิทยาถึงยุคแห่งวัฒนธรรมการพูด (Oral Culture) ของนีอันเดอร์ทัล รวมถึงข้อผิดพลาดในการรื้อฟื้นช่องเสียงของนีอันเดอร์ทัลที่ทีมวิจัยของลีเบอร์แมนทำขึ้น

กระนั้นก็ตาม คำวิจารณ์ดังกล่าวหาได้เป็นอุปสรรคในการทำงานของทีมแม็คคาร์ธีย์ โดยพวกเขาได้ต้นแบบการฟื้นช่องเสียงของนีอันเดอร์ทัลใหม่ 3 ชิ้น จากร่องรอยของซากฟอสซิลอายุ 50,000 ปีที่พบในฝรั่งเศส

จากแบบจำลองดังกล่าวทีมวิศวกรของแม็คคาร์ธีย์ได้คำณวนตามลักษณะท่อเสียง จนสร้างเสียงอี "E" ของนีอันเดอร์ทัลขึ้นมาในลำดับแรก ซึ่งเขาวางแผนที่จะสังเคราะห์เสียงพูดของนีอันเดอร์ทัลให้ได้สักประโยค

อย่างไรก็ดี เมื่อได้ฟังเสียงอีของนีอันเดอร์ทัลโดยเปรียบเทียบกับมนุษย์ปัจจุบันแล้ว เสียงอีที่เปล่งออกมาของมนุษย์ 3 หมื่นปีนี้ ไม่สามารถเปล่งระดับพลังเสียงสระได้อย่างชัดเจน โดยออกเป็นเสียงบีบแน่นที่ลำคอและเป็นเสียงนาสิก (ขึ้นจมูก) ซึ่งเราจะไม่สามารถแยกแยะคำว่า "บีต" (beat) และ "บิต" (bit) ของนีอันเดอร์ทัลได้เลย

"ด้วยความละเอียดอ่อนนี้ ทำให้เห็นความแตกต่างทางภาษา ที่ส่งผลให้นีอันเดอร์ทัลพูดได้อย่างจำกัด" เขากล่าว

ทว่าบทสรุปนี้ก็ยังไม่สอดคล้องกับสมองขนาดใหญ่ของนีอันเดอร์ทัลอยู่ดี ซึ่งอีริค ทรินเคาส์ (Erik Trinkaus) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี ชี้ว่า สมองที่ใหญ่ขนาดนี้ของนีอันเดอร์ทัลน่าจะสามารถปรับให้เกิดการใช้ภาษาได้ แต่ที่สุดแล้วสิ่งสำคัญจริงๆ ไม่น่าจะเป็นลักษณะทางกายวิภาคของช่องปาก แต่น่าจะอยู่ที่ระบบประสาทที่ใช้ควบคุมมากกว่า

นอกจากนี้ทรินเคาส์ยังชี้ว่า นีอันเดอร์ทัลน่าจะมียีนที่ส่งผลต่อความสามารถด้านภาษาด้วย โดยปีที่แล้วมีนักวิจัยค้นพบว่านีอันเดอร์ทัลก็มียีน "เอฟโอเอ็กซ์พี2" (FOXP2) ชุดเดียวกับในมนุษย์ยุคใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีข้อบ่งชี้ว่าหากยีนชนิดนี้บกพร่อง จะทำให้เกิดความผิดปกติด้านภาษาและการพูด

อีกทั้งความแตกต่างของยีน FOXP2 ระหว่างมนุษย์และสัตว์อื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ในชิมแปนซีญาติใกล้ชิดที่สุดของเรา ก็ส่งผลให้มนุษย์พูดได้ แต่สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถพูดได้

ขณะเดียวกันยังมีหลักฐานทางพันธุกรรมที่ชี้ว่า ภาษาพูดทำให้วิวัฒนาการรุ่นหลังของมนุษย์เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยจอห์น ฮอว์กส์ (John Hawks) นักมานุษยวิทยาด้านชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในเมดิสัน มลรัฐวิสคอนซิน ซึ่งร่วมอยู่ในการประชุมด้วย เสนอออกมาว่า ยีนบางตัวที่มีความสำคัญต่อการได้ยิน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในมนุษย์สมัยใหม่ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยีนกลุ่มนี้ช่วยถอดรหัสภาษาพูดใหม่ๆ รวมถึงภาษาพูดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้

"บางอย่าง (การพูด) ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 40,000 ปีมานี้" ฮอว์กส์กล่าว และบอกต่อไปอีกว่า ที่เรามีวิวัฒนาการทางภาษาพูด จนเป็นอย่างทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะหูของเราถูกปรับเปลี่ยนให้ทันฟังเสียง ที่เพิ่งถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อไม่นานนี้




No comments: