Can't find it? here! find it

Sunday, June 1, 2008

how to heal, or cure the snake's poison

ครั้งที่แล้วเราจัดการผู้ป่วยจนกระทั่งเอาตัวไปถึงโรงพยาบาลได้แล้ว วันนี้เรามาต่อกันเรื่องการรักษางูกัดกันต่อครับ
ความรู้เรื่องการรักษานี้ความจริงเป็นสิ่งที่แพทย์รู้ โดยที่ผู้ป่วยและญาติอาจจะไม่ต้องรู้เลยก็ได้ เพราะว่าในที่สุดการรักษาจะตกไปอยู่ตรงจุดของแพทย์ไม่ใช่ญาติหรือผู้ป่วย
แต่ว่าในชีวิตจริง มนุษย์ทุกคนมีความไม่มั่นใจในเรื่องที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายอยู่แล้ว ทำให้หลายครั้งหลายคราวเวลาแพทย์รักษาผู้ป่วยตามหลักทางการแพทย์แต่ว่าไม่ตรงใจผู้ป่วยหรือญาติก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา
ดังนั้นหัวข้อต่อจากนี้จะเน้นเรื่องของงูกัดและการรักษาที่เกี่ยวข้องครับ เพื่อที่ว่าหากต่อไปเกิดมีใครในที่นี้ไปโดนงูกัด จะได้เข้าใจและไม่ต้องตกใจกับการรักษา

เมื่อไปถึงโรงพยาบาล
เมื่อถูกงูกัดแล้วไปที่โรงพยาบาล อย่างแรกเลยที่จะโดนถามคือโดนอะไรมาหรือโดนอะไรกัด จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลแล้วว่าโดนอะไรกัด(หรือไม่รู้ว่าโดนอะไรกัดก็ตาม) ก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษา
- ถ้าคุณรู้ว่าเป็นงู แต่ไม่รู้ว่าเป็นงูอะไร หรือมีรอยเขี้ยวและฟันแต่ไม่รู้โดนตัวอะไรกัด แพทย์ก็จะให้นอนสังเกตอาการ เพื่อดูว่าถ้ามีอาการของพิษ พิษนั้นเป็นพิษจากงูในกลุ่มใด
- ถ้าคุณเห็นตัวงูชัดเจน รู้จักชนิดงูดี แพทย์ก็เลือกการรักษาไปตามชนิดของงูเลย เตรียมเซรุ่มของงูชนิดนั้นเอาไว้ และเฝ้าดูอาการจากพิษงู ระวังอาการอื่นๆข้างเคียงของพิษงูชนิดนั้นๆ รวมทั้งเผ้าระวังอาการอื่นๆเผื่อไว้ว่าคุณดูชนิดงูผิด
- ถ้าเห็นว่าไม่ใช่รอยจากงูหรือว่าเห็นตัวว่าไม่ใช่งู ก็รักษาแล้วกลับบ้าน

โดยมากแล้วหากไม่มั่นใจในเรื่องชนิดของงูที่มากัด แพทย์ก็จะรักษาแบบครอบคลุมไว้ก่อนโดย
- เฝ้าระวังอาการชนิดจำเพาะของพิษงู - ได้แก่อาการทางระบบประสาท ระบบเลือด หรือ ระบบกล้ามเนื้อ เพื่อจะได้ระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นและสามารถจำกัดวงของการใช้เซรุ่มได้
- เผ้าระวังอาการที่ไม่จำเพาะของพิษงู - ได้แก่อาการบวม ปวด แผลเนื้อเน่าตาย ความดันเลือดต่ำ หัวใจทำงานผิดปกติ การขาดเลือดของอวัยวะส่วนปลาย เพื่อจะได้รักษาก่อนที่จะรุนแรงไปยิ่งกว่าเดิม
ส่วนการรู้ว่างูที่กัดเป็นงูอะไร(หรือจับงูมาได้แล้วดูออก) จะมีส่วนช่วยได้บ้างครับ คือทำให้การรักษานั้นแคบขึ้นคือ
- เฝ้าระวังอาการชนิดจำเพาะของพิษงู - ตามชนิดของงูนั้นๆ
- เฝ้าระวังอาการที่ไม่จำเพาะของพิษงู - เหมือนข้างบน
สังเกตนะครับว่าต่อให้รู้ว่างูที่กัดเป็นงูอะไร ก็ต้องเฝ้าระวังอาการต่ออยู่ดี ไม่ได้ทีการให้เซรุ่มแก้พิษงูทันที

[snake201]



เรื่องที่ว่าโดนตัวอะไรกัดมากันแน่ตรงนี้ต้องตอบตามจริงครับ มีความสำคัญในการรักษามาก
เพราะตามหลักในการรักษาเรื่องงูกัด แพทย์จะมุ่งรักษาชีวิตไว้ก่อน จากนั้นรักษาอวัยวะ และท้ายที่สุดคือการรักษาอาการ ส่วนถ้าเป็นสัตว์อื่นที่ไม่ถึงตายกัด แพทย์จะตั้งเป้าการรักษาไว้ที่รักษาอวัยวะ(ถ้าดูรุนแรง)และรักษาอาการ
ยกตัวอย่างครับ

- ถ้าถูกงูไม่ทราบชนิดกัด แพทย์จะไม่ให้ยาแก้ปวดอย่างแรง เพราะว่ายาแก้ปวดมีฤทธิ์กดประสาทอาจจะสับสนกับพิษงูเห่า / แพทย์จะไม่ฉีดยาชารอบแผล เพราะอาจจะทำให้เลือดออกถ้าเป็นพวกงูเขียวกัด / แพทย์จะไม่ให้ประคบเย็นรอบแผล เพราะในบางรายอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดเนื้อเยื่อขาดเลือดจนเน่าได้
- ถ้าโดนตะขาบกัด มารพ.เพราะปวดมาก แพทย์ก็จะให้ยาแก้ปวด ให้ฉีดยาชารอบแผล และอาจจะให้ประคบเย็นบรรเทาปวด ... เพราะพิษตะขาบมักไม่ถึงตาย และมักไม่ทำให้เกิดการเน่าตายของอวัยะวที่โดนกัด

- ทีนี้ผู้ป่วยบางรายที่โดนตะขาบกัด แต่ไปบอกว่าโดนงูกัดเพราะเชื่อว่าจะได้รับการดูแลที่ดีกว่า ... ผลก็คือแทนที่จะหายปวด กลับต้องทนปวดยิ่งกว่าเดิม

ภาพข้างล่างนี่เป็นภาพตะขาบกัด เป็นภาพจากญี่ปุ่นครับ ... ถ้าไม่บอกว่าอะไรกัดก็อาจจะต้องระวังว่าเป็นงูพิษต่อระบบเลือดกัด เพราะมีรอยเขี้ยวและบวมได้

[snake202]

การรักษาอาการชนิดไม่จำเพาะของพิษงู
อาการที่ไม่จำเพาะของพิษงู เกิดจากเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน และสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันและหลอดเลือด
ผลโดยรวมของสารเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการบวมของเนื้อเยื่อในบริเวณดังกล่าว และอาจจะเกิดการขาดเลือดได้จนเกิดการเน่าตายในภายหลัง
ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยที่โดนงูกัดในขั้นแรกก็คือ การตรวจดูสัญญาณชีพ (วัดชีพจร ความดันเลือด ความรู้สติ) เมื่อดูว่ายังไม่เกิดอันตราย ขั้นต่อไปก็คือการคลายการผูกรัดบริเวณอวัยวะที่โดยรัดนั้นไว้ เพื่อให้พิษไม่คั่ง , และไม่ให้อวัยวะส่วนนั้นขาดเลือดจนกระทั่งเสียหายมากกว่าที่ควร
อันดับต่อไปคือการดูว่ามีการบวมหรือไม่ ... ในกรณีที่บวมไม่มาก ก็ให้รักษาไปตามอาการ
แต่ในกรณีที่บวมมาก เนื้อที่บวมจะบวมไปกดเส้นเลือดจนอาจจะเกิดการขาดเลือดได้
พอดีหารูปบวมมากๆที่ไม่น่ากลัวหรือไม่เน่าไม่เจอ ... เอาแบบบวมพอประมาณไปดูแทนแล้วกันครับ

[snake203]

ในกรณีที่มีการตายของเนื้อเยื่อเกิดขึ้น แพทย์ก็จะจัดการผ่าตัดเอาเนื้อส่วนที่ตายนั้นทิ้งไปครับ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน / เอาส่วนที่มีสารพิษจากพิษงูออก / เปิดพื้นที่ให้เนื้อเยื่อใหม่ได้เติบโตขึ้นมา

หรือในกรณีที่มีอาการบวมมากจนแพทย์ประเมินพบว่าอาจจะส่งผลทำให้อวัยวะส่วนปลายเกิดการขาดเลือด แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการที่เรียกว่าFasciotomy ซึ่งเป็นการผ่าผิวหนังและปลอกกล้ามเนื้อ เพื่อให้เนื้อเยื่อที่บวมจากพิษได้ขยายตัวออกโดยไม่ไปกดทับเส้นเลือด

อันนี้ภาพแบบน่ากลัวจากของจริง ... ไม่ค่อยน่าดูเท่าไหร่
http://www.rattlesnakebite.org/rattlesnakepics.htm

ส่วนอันล่างนี้เป็นแบบภาพวาดครับ เป็นตำแหน่งที่จำกรีดเพื่อให้เนื้อที่บวมได้มีที่ขยาย จะได้ไม่ไปกดทับเส้นเลือดจนอวัยวะเสียไป

[snake204]



การรักษาอาการจำเพาะของพิษงู
อาการจำเพาะที่ว่าได้แก่อาการเรื่องกล้ามเนื้อถูกทำลาย อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงไม่ทำงานหรือหยุดหายใจ อาการเลือดออกผิดปกติ
การรักษาแบ่งเป็นสองส่วน
ส่วนแรกคือการรักษาตามอาการของพิษงูนั้นๆ
- หากไม่สามารถหายใจได้(งูเห่า) ก็ให้ใส่ท่อช่วยหายใจ
- หากมีอาการของเลือดออก (งูแมวเซา กะปะ งูเขียว) ก็ระวังเรื่องเกร็ดเลือดและการแข็งตัวผิดปกติของเลือด อาจจะต้องให้เลือดหรือยาช่วยการแข็งตัวของเลือด
ส่วนที่สองคือ การรักษาด้วยการให้เซรุ่มเพื่อจัดการกับพิษส่วนที่ยังจะก่อเรื่องต่อไปไม่ให้ออกฤทธิ์ได้เต็มที่
คำถามที่ตามมาคือ แล้วเซรุ่มล่ะ ให้ไปก่อนได้ไหม ให้ในทุกรายเลยได้หรือไม่ โดยไม่ต้องรอให้เกิดเรื่องหรืออาการ

ดังนั้นเรามาต่อด้วยเรื่องเซรุ่ม
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเซรุ่มก็คือ
1. ถูกสร้างขึ้นมาจากม้า โดยการฉีดพิษงูเข้าไปในตัวม้า จากนั้นเอาเลือดม้าที่มีภูมิต้านทานออกมาทำเซรุ่ม **ดังนั้นเซรุ่มนี้ทำจากเลือดม้า**
2. เพราะทำจากม้า การสร้างใช้เวลา จำนวนมีจำกัด
3. เพราะทำจากเลือดม้า ดังนั้นมีโอกาสแพ้ได้
4. ใช้เพื่อแก้พิษของงูได้ตามแต่ชนิดเท่านั้น เซรุ่มงูอะไรก็แก้ได้แค่งูนั้น
5. ใช้แก้พิษได้แค่บางชนิด ไม่ใช่ยาวิเศษที่ฉีดแล้วหาย รักษาอาการอันเกิดจากพิษแบบไม่จำเพาะของพิษงูไม่ได้
6. เซรุ่มแก้อาการที่เกิดจากพิษแบบไม่จำเพาะไม่ได้ ดังนั้นแก้อาการขาดเลือด อาการเนื้อเน่าตายไม่ได้

มีไม่น้อยที่เวลาผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลแล้วต้องการให้ฉีดเซรุ่มทันที แต่แพทย์จะไม่ฉีดให้ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ก่อความขัดแย้งบ่อยครั้งจนหลายๆครั้งทำให้เกิดการร้องเรียนตามมา
เหตุผลที่ไม่ฉีดเซรุ่มให้ตั้งแต่แรก
อย่างที่เคยบอกไปเมื่อนานมาแล้ว (มีlinkในกระทู้แรก) ว่างูที่กัดคน เป็นงูไม่มีพิษซะมาก ... งูพิษมีน้อย และงูพิษที่กัดคน ส่วนใหญ่ก็กัดแบบ Dry Biteซะมาก คือกัดแล้วไม่ได้ปล่อยพิษ ดังนั้นการฉีดเซรุ่มจึงไม่ได้จำเป็ฯนัก เพราะบางคนอาจจะไม่ได้พิษ ซึ่งพอชั่งน้ำหนักแล้ว จะเกิดความเสี่ยงจากการฉีดเซรุ่ม มากกว่าผลที่จะเกิดจากพิษงูเสียอีก
และเนื่องจากมันทำมาจากเลือดม้า โอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ก็มี อย่างเช่นเซรุ่มงูเห่า จะมีอาการแพ้หลังจากฉีดเข้าไป 10 % อาการแพ้ถ้าเป็นน้อยๆก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าแพ้มากๆก็ถึงกับตายได้
...
หรือบางคนที่อาจจะอ่านมากหน่อยจะทราบว่าปัจจุบัน เซรุ่มของงูอื่นๆมักจะไม่ค่อยแพ้กันแล้ว ... จะฉีดเลยได้ไหมโดยไม่ต้องรอให้มีอาการ
คำตอบก็คือ ไม่ควรอีก เพราะว่าของพวกนี้มีจำนวนจำกัด ถ้าไปฉีดในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นเลยเพียงเพื่อทำให้คนที่ถูกกัดสบายใจ เดี๋ยวถึงเวลาที่จำเป็นจริงๆก็จะไม่มีให้ใช้

ลองมาดูว่าตามหลักวิชาการแล้ว เซรุ่มแก้พิษงูมีข้อควรรู้อะไร
อันนี้ของงูกลุ่มที่กดระบบประสาท ได้แก่งูเห่า งูจงอาง งูทับสมิงคลา

[snake205]

จะเห็นข้อที่ระบุไว้ในนั้นว่า ไม่สามารถป้องกันภาวะrespiratory failure ซึ่งหมายความว่าถ้าคนๆนั้นได้พิษไปมากพอ ต่อให้ให้เซรุ่มก็ไม่ได้ช่วยเรื่องการหยุดหายใจ
ถ้าจะหยุดหายใจ ให้เซรุ่มไปก็หยุดหายใจได้อยู่ดี
และอันนี้ก็คือข้อบ่งชี้ของกลุ่มงูที่มีพิษต่อระบบเลือดครับ เวลาให้ก็ดูเรื่องความผิดปกติของเลือดเป็นหลัก

[snake206]

สองรูปหลังคือรูปของเกณฑ์ตามมาตรฐานที่แพทย์ใช้ก่อนจะให้เซรุ่มครับ เป็นเกณฑ์ที่สร้างมาเพื่อให้แพทย์มีหลักในการตัดสินใจได้โดยพิจารณาในแง่ ความปลอดภัย/ความเสี่ยงที่อาจจะมีจากการรักษา/และความคุ้มค่าในทรัพยากรที่มีจำกัด
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อชั่งน้ำหนักและประกอบกับหลายๆปัจจัย แพทย์อาจจะให้เซรุ่มแก้พิษงูไม่ตรงจากนี้ได้ครับ ... ตัวอย่างง่ายๆคือ ในรายที่ไม่มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเลย หรือเจาะเลือดแล้วปกติ แต่มีอาการบางข้อที่บ่งชี้ว่างูปล่อยพิษออกมาจริงและปล่อยพิษมาก แพทย์ก็อาจจะตัดสินใจให้ไปก่อน
ถ้าสงสัยหรือไม่แน่ใจในการให้เซรุ่มของแพทย์ แนะนำว่าให้ถามเหตุผลจากแพทย์ได้ครับ ว่าทำไมถึงให้หรือทำไมถึงไม่ให้

โดยสรุปแล้ว เรื่องเซรุ่ม ผมมีสิ่งที่อยากสรุปไว้ก็คือ
1. คนส่วนใหญ่เชื่อว่าคนที่ถูกงูกัดควรต้องได้เซรุ่ม
2. ความจริง งูกัดส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเกิดอาการของพิษ และก็น้อยที่จะจำเป็นต้องให้เซรุ่ม
3. คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเซรุ่มเป็นยาที่เมื่อได้แล้วจะทำให้อาการจากพิษงูหายสลายไปสิ้น
4. ความจริง เซรุ่ม ไม่ใช่ยาวิเศษ จัดการอาการจากพิษงูได้ไม่ทั้งหมด โดยจัดการได้แค่ภาวะที่อันตรายถึงตายแค่บางภาวะเท่านั้น
5. เซรุ่มไม่สามารถแก้อาการที่เกิดจากพิษงูที่เกิดก่อนการให้เซรุ่มไม่ได้ (เช่นถ้าหากเกิดเลือดออกในสมองจากพิษงูไปแล้ว ให้ไปก็ไม่ได้ช่วยตรงนี้ได้)
6. เซรุ่มไม่สามารถแก้ไขภาวะเนื้อเยื่อตายที่เกิดจากการถูกงูกัดได้ เรื่องดังกล่าวขึ้นกับการปฐมพยาบาลจากที่เกิดเหตุประกอบกับสภาพอื่นๆ
7. เซรุ่มงูเห่างูจงอาง ต่อให้ให้อย่างถูกต้อง ก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดการหยุดหายใจได้ ... ทำได้แค่ถ่วงเวลาไว้เท่านั้น
8. เซรุ่มไม่ได้ปลอดภัย100% โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงหรือแพ้เซรุ่มก็ยังมีสูง

ต่อจากเรื่องเซรุ่มเรามาดูเรื่องอื่นๆอีก

รอยกัด ใช้ในการแยกว่าเป็นงูพิษหรือไม่มีพิษได้หรือไม่
ในการเรียนสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ หรือในวิชาสุขศึกษาพื้นฐานต่างบอกวิธีการดูรอยงูกัดว่าสามารถใช้ในการแยกงูพิษและงูไม่มีพิษได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องครับ
แต่ทีนี้มีคำถามตามมาว่า ถ้าเราดูเป็นก็ไม่ต้องมารพ.ก็ได้ใช่ไหม
คำตอบคือไม่ครับ...ยังไงก็ควรจะมารพ.อยู่ดี
ถามว่าทำไมต้องมารพ.ในเมื่อรอยที่เห็นเป็นรอยของงูไม่มีพิษ คำตอบให้ดูภาพประกอบด้วยครับ
ที่เราเรียนๆกันมา รอยงูไม่มีพิษกัดจะเห็นเป็นรอยฟันโดยที่ไม่เห็นรอยเขี้ยว ส่วนรอยงูมีพิษกัด มักจะเป็นเขี้ยวสองรู
นั่นคือความรู้ที่เป็นจริงสำหรับการกัดแบบจังๆชัดๆครับ แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่
ข้อแรก -- งูบางชนิดเป็นงูชนิดที่พับเขี้ยวได้ เวลากัดเสร็จแม้ไม่มีรอยเขี้ยว แต่พิษก็ซึมเข้าไปในแผลที่โดนฟันธรรมดากัดได้
ข้อสอง -- เวลาคนโดนงูกัดแบบเห็นตัวมักจะชักส่วนที่โดนกัดหนี ทำให้เกิดแผลที่ดูยาก ... บางครั้งแผลก็ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดจากงูพวกใด
ข้อสามและเป็นข้อที่สำคัญที่สุด -- เจอรอยฟัน ไม่ได้แปลว่างูไม่มีพิษ ... ความเข้าใจผิดที่รุนแรงของหลายๆคนคือ หากเจอรอยฟันเป็นแถวแปลว่าไม่ใช่งูพิษ ... แต่ถ้าลองดูรูปประกอบจะเห็นนะครับว่างูที่มีพิษก็มีรอยฟันได้ โดยมีรอยเขี้ยวเพิ่มขึ้นมาสองรอย
เจอหลายครั้งเหมือนกันที่คนไข้มาด้วยรอยแผลเป็นรูปฟันแล้วก็บอกว่าถูกงูไม่มีพิษกัด แต่เมื่อตรวจไปดีๆก็พบว่ามีรอยเขี้ยวอีกสองรูเล็กๆซึ่งถ้าไม่ตรวจดูใกล้ๆก็จะมองไม่เห็น

[snake209]

ดังนั้นถ้าจะให้ดีก็ไปที่รพ.ดีกว่าครับ ดูแผลนั้นพอใช้ได้ แต่ไม่ชัวร์
คำถามต่อไป

เซรุ่มรวมคืออะไร ใช้ไปเลยได้ไหม
เนื่องจากปกติแล้วการโดนงูกัดมักจะไม่มีตัวงูมาที่โรงพยาบาล ประกอบกับโดยทั่วไปแพทย์จะไม่ให้เซรุ่มหากไม่มีข้อบ่งชี้ ... เหล่านี้ประกอบกันทำให้หลายคนตีความไปว่าแพทย์ไม่ได้ให้เซรุ่มเพราะไม่เห็นตัวงู พาลทำให้คิดไปว่าในเมื่อไม่รู้ว่าเป็นงูอะไรก็ควรให้เซรุ่มชนิดรวมแทน
จริงๆแล้วการจะให้เซรุ่มชนิดรวมก็มีข้อบ่งชี้เหมือนๆกันกับการให้เซรุ่มธรรมดานั่นคือให้เมื่อมีอาการของพิษงูเท่านั้น
ทีนี้ถ้าเรารู้ว่าเป็นงูเห่ากัด ก็ให้เซรุ่มงูเห่า
ถ้าเป็นงูแมวเซากัด ก็ให้เซรุ่มงูแมวเซา
แล้วเซรุ่มชนิดรวมจะให้เมื่อไหร่ล่ะ

เซรุ่มชนิดรวมที่มีในปัจจุบัน(เท่าที่ทราบ)มีสองแบบ
- ชนิดที่แบ่งตามประเภทของอาการ เช่นผสมเซรุ่มงูเห่า/จงอาง/ทับสมิงคลา ในหลอดเดียวกัน หรือเซรุ่มงูระบบเลือด (Viper antivenom)
- ชนิดที่แบ่งตามงูที่มีชุกในพื้นที่นั้นๆ เช่นผสมเซรุ่มงูเห่างูแมวเซางูทับสมิงคลา อยู่ในหลอดเดียวกัน

การใช้ในแบบที่แรก ใช้ตามอาการที่ปรากฏ เช่นคนไข้รู้ตัวดีแต่มีภาวะเลือดออก ก็ใช้เซรุ่มรวมด้านระบบเลือด ... หรือคนไข้ไม่รู้ตัว หายใจไม่ได้ ก็ให้เซรุ่มกลุ่มระบบประสาท
การใช้ในแบบที่สอง ใช้เมื่อไม่รู้จะให้อะไร .... เพราะอาการมันคาบเกี่ยวกัน
อย่างเช่น คนไข้มารพ. หัวใจเต้นไม่ดี ไม่รู้สึกตัว แขนบวมพอง
- อาจจะเป็นพิษงูแมวเซา ซึ่งมีพิษต่อหัวใจหัวใจ และทำให้เนื้อที่โดนกัดพุพอง
- อาจจะเป็นพิษงูเห่า ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้หายใจไม่ได้
ในช่วงฉุกเฉินที่ยังไม่รู้ว่าเกิดจากพิษอะไร ก็ต้องให้แบบรวมไปก่อนครับ
แต่ถ้าเลือกได้ ใช้แบบเดี่ยวดีที่สุด เพราะว่าขึ้นชื่อว่าแบบรวม ก็จะได้เซรุ่มตัวที่ถุกต้องน้อยกว่าที่ควรได้อยู่ครึ่งนึง(เพราะก็ต้องไปเอาเซรุ่มเดี่ยวๆมาผสมเข้าด้วยกัน)


และบางคนที่อาจจะสงสัยว่าแล้วให้เซรุ่มอัดเข้าไปทุกตัวไปเลยไม่ได้หรือ ก็ต้องบอกว่าไม่ได้ครับ เพราะลำพังแค่เซรุ่มตัวเดียว ก็อาจจะเกิดอาการแพ้ได้แล้ว ... หากให้พร้อมกันหลายตัวก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะถึงแก่ชีวิตจากเซรุ่มก่อนพิษงูซะอีก
Note ผมยังไม่เคยเห็นเซรุ่มชนิดรวมด้วยตาตัวเองเลยครับ

สุดท้ายคือคำถามยอดฮิต

โดนงูกัดคอทำอย่างไรดี

[snake and dog]

ดูเผินๆอาจจะไม่มีอะไร แต่ที่เอาภาพดังกล่าวมาให้ดูก็คือเรื่องงูกัดหน้าครับ
เป็นเรื่องที่ดูเหมือนเรื่องตลกครับ กับคำถามว่า ถ้าโดนงูกัดคอจะทำอย่างไรต้องรัดคอไหม ...
ถ้าอ่านมาตั้งแต่ต้นจะทราบว่าการรัดหรือมัดนั้นไม่มีที่ใช้จริง และที่เรารัดหรือทำให้อยู่นิ่งนั้น เราไม่กลัวว่าพิษจะเข้าสู่หัวใจ...ต่อให้เข้าก็ไม่ตายง่ายๆ เรื่องพิษ เรากลัวว่ามันจะกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วต่างหาก
ดังนั้นจึงตอบได้อย่างง่ายดายว่า
โดนงูกัดคอ ไม่ต้องรัดคอครับ

จากภาพ เป็นภาพสุนัขที่โดนงูกัดที่หน้าครับ จะเห็นว่าหน้าบวมเหมือนยิ้ม
...
ดูตลก แต่ว่าถึงตายได้ครับ

การโดนงูกัดที่บริเวณใบหน้าและลำคอ ความอันตรายอยู่ที่การบวมครับ
ถ้าโดนกัดที่ใบหน้า ลิ้นและช่องปากอาจจะบวมจนอุดทางเดินหายใจจนตายได้
ถ้าโดนกัดที่คอ ส่วนคอด้านในอาจจะบวมจนกดทางเดินหายใจได้เหมือนกัน

ดังนั้นหากโดนกัดที่หน้าหรือคอ อย่ารอช้าครับ! ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
เพราะถ้าหากบวมขึ้นมา แม้พิษงูจะไม่รุนแรงจนถึงกับต้องให้เซรุ่ม แต่ก็ถึงตายได้ครับ!

ภาพสุนัขนำมาจาก http://www.davidbessler.com/wordpress/?p=58
ในเว็บดังกล่าวมีรูปหน้าสุนัขที่เป็นปกติให้ดูด้วย

เรื่องงู แม้จะผ่านไปกี่ปี คนที่เข้าใจผิดก็ยังมีอีกมาก ความเข้าใจก็ยังไม่ตรงกัน ... ความเชื่อแปลกๆก็มีเยอะ

ต่อไปต้องได้คุยกันอีกแน่ๆครับ

No comments: