Can't find it? here! find it

Monday, March 10, 2008

เชื่อหรือไม่

แฉ! โกงสอบ "โอเน็ต" โดยใช "นาฬิกามือถือ"
แฉ! โกงสอบ "โอเน็ต" โดยใช "นาฬิกามือถือ"

โกงสอบ- นาฬิกา ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือในตัว กำลังแพร่หลายในหมู่วัยรุ่น มีการเปิด โปงว่าในการสอบโอ เน็ตเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา มีการใช้นาฬิการุ่นใหม่นี้ส่งเอสเอ็มเอสโกงข้อสอบ ซึ่งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติสั่งตรวจสอบด่วน
สทศ.เต้นนักเรียนใช้นาฬิกาโทรศัพท์ทุจริตสอบโอเน็ต เตรียมหาทางป้องกันสำหรับการสอบครั้งต่อไปหลังมีผู้โพสต์ในเว็บไซต์เปิดตัวนาฬิกามือถือรุ่นใหม่ใช้โทรศัพท์ได้ แล้วมีผู้โพสต์ตามเข้ามาว่า พบเห็นเด็กนักเรียนใช้ส่งข้อความคำตอบให้กัน กระทั่งผู้คุมสอบจับได้ ก่อนปรับตกวิชานั้นทันที เผยเป็นไฮเทคโนโลยีที่ผู้คุมสอบยังตามไม่ทัน อนุญาตให้นำเข้าห้องสอบได้ เพราะคิดว่าเป็นแค่นาฬิกาธรรมดา สกอ. สั่งผู้คุมสอบจับตาสอบเอเน็ต 8-9 มี.ค. นี้เป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการทุจริตแบบใหม่ๆ
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เข้ามาโพสต์ข้อความในเว็บไซต์แห่งหนึ่งแนะนำนาฬิกาที่ใช้โทรศัพท์ได้ ต่อมามีผู้ใช้ชื่อ ToeYeZ โพสต์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ระบุว่า พบเห็นการนำนาฬิการุ่นดังกล่าวไปใช้ทุจริตการสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) จัดสอบโดยสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ระหว่างวันที่ 29 ก.พ.-1 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนักเรียนนำนาฬิการุ่นนี้เข้าห้องสอบได้ เพราะอาจารย์ไม่ทราบว่ามีนาฬิกามือถือรุ่นนี้ออกมาแล้ว จากนั้นจะใช้นาฬิกามือถือรับส่งข้อความ หรือเอสเอ็มเอส คำตอบจากเพื่อนนักเรียนเรียนเก่งที่ทำข้อสอบเสร็จแล้วส่งมาให้ แต่สุดท้ายก็ถูกอาจารย์คุมสอบจับได้ เนื่อง จากเห็นพฤติกรรมผิดปกติ จึงปรับตกตามกติกา อย่างไรก็ตามอยากให้สทศ.แจ้งไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ด้านนางอุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ. กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานเหตุการณ์ทุจริตดังกล่าว ต้องยอมรับว่า แม้แต่ตนเองก็ยังไม่ทราบว่ามีโทรศัพท์นาฬิกามือถือลักษณะนี้ เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ผู้ใหญ่อาจก้าวตามเด็กไม่ทัน และเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยากลำบากมาก จึงอยากเรียกร้องนักเรียนที่เห็นเหตุการณ์ช่วยแจ้งข้อมูลมายังสทศ. เพื่อจะได้ทราบว่า เหตุเกิดขึ้นที่ศูนย์การสอบใด เพื่อจะได้ตรวจสอบนักเรียนที่กระทำผิดอีกทอดหนึ่ง ขณะเดียวกันได้มอบหมายเจ้าหน้าที่สทศ. ตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆ ที่นักเรียนนิยมเข้ามาโพสต์ว่ามีแจ้งเหตุทุจริตอื่นๆอีกหรือไม่ สำหรับกรณีนี้จะได้นำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสทศ.
"กรณีนี้ถือเป็นช่องว่างทางเทคโนโลยีที่ตรวจสอบได้ลำบาก ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. วันที่ 7 มี.ค. จะนำเรื่องนี้เข้าหารือที่ประชุมเพื่อแจ้งถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่นักเรียนนำมาใช้ในทางที่ผิด และสทศ.ต้องตามให้ทัน เพราะปีนี้มีนาฬิกาโทรศัพท์ ปีหน้าอาจจะมีการพัฒนาอื่นๆ อีก นอกจากนี้จะหารือว่าสทศ.ต้องอบรมอาจารย์และเจ้าหน้าที่คุมสอบ ให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยหรือไม่" ผอ.สทศ.กล่าว
ผอ.สทศ.กล่าวอีกว่า สำหรับการรายงานทุจริตสอบโอเน็ตที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ศูนย์สอบจุฬาฯรายงานเข้ามาเพียงแห่งเดียว จากทั้งหมด 18 ศูนย์ โดยพบนักเรียนทุจริต 5 คน ในวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาไทย กรณีที่มีนักเรียนนำมาโพสต์ก็เป็นหนึ่งในการทุจริตที่พบที่ศูนย์สอบจุฬาฯ ซึ่งได้ปรับให้ตกในวิชานั้นแล้ว นอกจากนี้ก็มีกรณีนักเรียน 2 คน ขออนุญาตผู้คุมสอบไปเข้าห้องน้ำ แต่ขากลับอาจารย์พบพิรุธ นักเรียนมีท่าทีผิดปกติ สุดท้ายนักเรียนยอมรับว่าไปเขียนโค้ดคำตอบไว้ในยางลบให้กัน อีกกรณีนักเรียน 2 คน เข้าไปบอกข้อสอบกันในห้องน้ำ ซึ่งทั้งหมดจะนำเข้าหารือในบอร์ด สทศ.ว่าจะปรับตกเฉพาะในรายวิชาที่ทุจริต หรือปรับตกทุกรายวิชา
ขณะที่น.ส.จิรณี ตันติรัตนวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะจัดทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) วันที่ 8-9 มี.ค. โดยแจ้งเตือนนักเรียนให้ทราบแล้วว่า ห้ามนำสิ่งของอื่นๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอ นิกส์เข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด แต่จะอนุญาตให้นัก เรียนนำดินสอ 2B ปากกา ยางลบ และเอกสารประจำตัวผู้สอบติดตัวเข้าห้องสอบได้เท่านั้น กรณีนาฬิกามือถือที่พบว่ามีนักเรียนนำมาใช้ทุจริตนั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่คงไม่ถึงขั้นห้ามไม่ให้นักเรียนใส่นาฬิกาเข้าสอบ เพียงแต่จะย้ำกับผู้คุมสอบว่าต้องสังเกตพฤติกรรมนักเรียนแต่ละคนอย่างใกล้ชิด หากคนใดผิดปกติ ดูนาฬิกาบ่อย หรือวุ่นวายอยู่กับนาฬิกา ผู้คุมสอบต้องเข้าตรวจสอบและดำเนินการทันที
ส่วนนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการกกอ. กล่าวว่า สกอ.จะประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนมาตรการป้องกันการทุจริต เพราะถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดูแลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุนักเรียนนำไฮเทคโนโลยีแบบนี้มาใช้ทุจริตสอบโอเน็ต ดังนั้นการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) วันที่ 8-9 มี.ค. จะกำชับศูนย์สอบให้ตรวจตราเข้มงวดขึ้น รวมทั้งดูแลเรื่องโทรศัพท์นาฬิกาข้อมือนี้ด้วย เพราะขนาดการสอบโอเน็ตยังทำถึงขนาดนี้ เป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายมาก
"ส่วนจำเป็นต้องถึงขนาดตัดสัญญาณโทรศัพท์บริเวณศูนย์สอบหรือไม่ เพราะเครื่องมือดังกล่าวส่งด้วยสัญญาณโทรศัพท์ ขอหารือเจ้าหน้าที่ก่อน เพราะการตัดสัญญาณโทรศัพท์จะกระทบคนอื่นที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย" เลขาธิการกกอ.กล่าว
ที่มาจากหนังสือพิมพ์
___________________________
ตะลึง!ใช้'สมาร์ทโฟน'โกงข้อสอบเอ็นทรานซ์ตรงตามที่คนโพสต์
ช็อค! นักเรียนใช้มือถือไฮเทค 'โฟนวัน' โกงข้อสอบตรงตามที่มีคนเคยโพสต์ในเน็ต ด้านกกอ.ยังไม่กล้าตัดสัญญาณหวั่นกระทบผู้อื่น พบอีกทุจริต 'โอเน็ต' ที่จุฬาฯ 5 ราย ในวิชาคณิต-ภาษาไทย เล็งหารือให้ปรับตกรายวิชา หรือทุกวิชา
นางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ว่า ในการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ 'โอเน็ต' ม.6 ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ -1 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อใช้คัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย หรือเอ็นทรานส์ ศูนย์สอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายงานการทุจริตเข้ามา พบว่ามีผู้เข้าสอบทุจริต 5 ราย ในวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาไทย จะหารือคณะกรรมการ สทศ.ตัดสินว่าจะให้ปรับตกรายวิชา หรือทุกวิชา
ส่วนที่มีนักเรียนโพสต์ในเว็บไซต์ http://board.siamphone.com/viewtopic.php?t=238993 ว่า มีผู้เข้าสอบนำโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ PhoneOne รูปร่างเหมือนนาฬิกาสวมข้อมือเข้าห้องสอบได้ เพราะผู้คุมสอบไม่รู้ว่าเป็นมือถือ กระทั่งมีสัญญาณ SMS เข้ามาจึงทราบ และปรับตกนั้น ผอ.สทศ.กล่าวว่า อยากให้ผู้เห็นเหตุการณ์แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาที่เว็บไซต์ สทศ.เพื่อตรวจสอบรายละเอียดต่อไป
ต่อมานางอุทุมพรกล่าวยอมรับว่า พบเหตุผิดปกติที่ศูนย์สอบจุฬาฯ รายหนึ่งตรงกับข้อมูลที่โพสต์ในอินเตอร์เน็ต ศูนย์สอบลงโทษไปแล้ว และ สทศ.ยืนยันตามโทษที่ศูนย์สอบตัดสิน
สำหรับข้อความที่โพสต์เมื่อวันที่ 1มีนาคมระบุว่า "วันนี้ผมได้พบพฤติกรรมเลวๆของคนที่ใช้นาฬิกามือถือรุ่นนี้ ซึ่งคือเด็กนักเรียนในการสอบ o-net เด็กนักเรียนสามารถนำเข้าห้องสอบได้ และไม่ถูกจับว่าเป็นมือถือ เพราะอาจารย์ไม่ทราบว่ามีนาฬิกามือถือออกมาแล้ว ดังนั้นก็สามารถนำมาใช้ได้ในขณะที่มือถืออีกเครื่องก็เอาไว้ใต้โต๊ะปิดเครื่องไว้เพื่อโชวความบริสุทธิ์ใจ และใช้นาฬิกามือถือนี้รับส่ง sms ได้ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำตอบแบบตัวเลือก) ผมเจอเข้าอย่างจังวันนี้ที่โรงเรียนผมในการสอบ O-NET เพื่อนร่วมรุ่นของ(ไม่อยากนับเลยเมื่อทำเหตุการณ์เช่นนี้)นำนาฬิกามือถืออันนี้เข้าไปในห้องสอบ และทำการรับโพยจากเด็กเรียนเก่งที่ส่งมาให้เมื่อทำข้อสอบเสร็จแล้ว(เวลาสอบ2ชม แต่ส่วนใหญ่1ชมครึ่งก็เสร็จละครับ)ที่นี่ไอ้คนที่รอรับก็นั่งรอsmsที่จะส่งมาจากเด็กเก่ง แต่สุดท้ายถูกอาจารย์จับได้ เนื่องจากอาจารย์เห็นว่ามันผิดปกติ โดนปรับตกตามกติกาไป ก็สมควรละครับทุจริตการสอบ ผมไม่ชอบมากๆเลย ผมอ่านหนังสือแทบตายเพื่อที่จะมาสอบ กะได้แค่ไหนเอาแค่นั้น กลับเจอทุจริตแบบนี้ เซงครับ การศึกษาไทย ใครฉลาดแกมโกงก็ได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ คนที่อ่านเองคงสู้ไม่ได้หรอกครับ "
"สุดท้ายผมก็เข้าใจนะครับส่วนใหญ่ไม่ใช้ในจุดประสงค์เลวๆเช่นนั้น เพราะมันสะดวกดี ผมก็เคยคิดเหมือนกัน ผมคิดว่าสอบครั้งหน้า สทศ คงต้องอัพเดทรุ่นมือถือใหม่ๆละ และแจ้งตาม รร ต่างๆให้รับทราบทั่วกัน เพราะไม่แน่ อนาคตอาจมีปากกามือถือก็ได้ ใครจะไปรู้ได้ครับ "
ด้านนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า เมื่อเกิดการใช้ไฮเทคโนโลยีแบบนี้ ในการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือ 'เอเน็ต' ระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม จะกำชับศูนย์สอบตรวจตราเข้มงวดขึ้น รวมทั้งดูแลเรื่องโทรศัพท์นาฬิกาข้อมือนี้ด้วย ส่วนจะถึงกับตัดสัญญาณโทรศัพท์บริเวณศูนย์สอบหรือไม่ขอหารือเจ้าหน้าที่ก่อน เพราะจะกระทบคนอื่นในบริเวณนั้นด้วย
นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในวันนี้ สทศ.ได้จัดสอบโอเน็ต ป.6 ทุกสังกัดกว่า 9 แสนคน พบนักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 ตกหล่น 1,400 คน แต่ได้ประสาน สทศ.ขอข้อสอบจัดสอบเรียบร้อยแล้ว และพบว่ามี 237 โรง มีชื่อโรงเรียน แต่ไม่มีรายชื่อนักเรียน อีก 146 โรง มีรายชื่อนักเรียน แต่ไม่มีสนามสอบ จะจัดสอบนักเรียนตกหล่นในวันที่ 5 มีนาคมต่อไป

No comments: