Can't find it? here! find it

Monday, March 10, 2008

เรื่องที่คุณจะต้องคิดให้มาก เมื่อดูความก้าวหน้าทางการแพทย์จากสื่อYou have to get to know about.......

เรื่องที่คุณจะต้องคิดให้มาก เมื่อดูความก้าวหน้าทางการแพทย์จากสื่อ -=Byหมอแมว=-

เรื่องที่คุณจะต้องคิดให้มาก เมื่อดูความก้าวหน้าทางการแพทย์จากสื่อ -=Byหมอแมว=-

เรื่องที่คุณจะต้องคิดให้มาก เมื่อดูความก้าวหน้าทางการแพทย์จากสื่อ -=Byหมอแมว=-

เคยสังเกตไหมครับ ว่าเวลาคุณไปอ่านข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์บางอย่างเข้าแล้วพบว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจเอามากๆ จากนั้นคุณก็เอาเรื่องนี้ไปคุยหรือปรึกษากับแพทย์ที่คุณไปรักษาอยู่ แต่ปรากฎว่าแพทย์ผู้นั้นไม่ค่อยให้ความสนใจ หรือไม่ก็แสดงลักษณะที่ว่าไม่เชื่อในเรื่องนั้นๆ

หลายท่านเข้าใจว่าแพทย์ผู้นั้นไม่สนใจติดตามข่าวสารและไม่เพิ่มพูนความรู้ให้ตนเอง หรือมิฉะนั้นก็ไม่รู้จักอ่านหนังสือพิมพ์

แต่รู้หรือไม่ครับว่าบางครั้งบางคราว เรื่องต่างๆที่คุณได้รับจากสื่อสารมวลชนนั้นมันมีจุดอ่อนบางประการอยู่จนทำให้แพทย์ไม่สนใจเรื่องนั้นๆ เรามาดูเหตุผลกันครับ

1. คนที่เขียนเรื่องนั้น อ่านเนื้อหาไม่ครบและสรุปผิดไปเองตั้งแต่ต้น
รูปที่ผมเอามาลงในกระทู้คือตัวอย่างแรกครับ เป็นลักษณะที่อาจจะสร้างความเข้าใจผิดได้หากคนที่อ่านไม่ใช่ผู้ที่ทำงานทางด้านการแพทย์ครับ
ในการเขียนบทความทางวิชาการนั้นจะมีส่วนเนื้อหาเต็มและอีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสรุปย่อความเอาไว้ให้คนที่สนใจได้อ่านก่อนว่าเป็นเรื่องที่ต้องการหรือไม่...เป็นที่น่าเสียดายที่ว่าการเขียนข่าวหรือเล่าข่าวหลายๆครั้งนั้นเป็นการเอาแค่ส่วนที่เป็นส่วนย่อความมาเล่าและวิจารณ์ต่อโดยไม่ได้เข้าไปอ่านต้นฉบับจริง ดังนั้นการวิจารณ์ที่ตั้งบนพื้นฐานของเรื่องที่ไม่สมบูรณ์จึงอาจจะก่อให้เกิดผลเสียได้
หลายคนคงสงสัยนะครับว่าในเมื่อเป็นย่อความแล้ว ทำไมจึงจะมีเนื้อหาสาระที่ผิดเพี้ยนไปได้มาก
ตัวอย่างคือจากรูปข้างต้นครับ เป็นรูปที่ผมเก็บมาจากบทความเรื่อง "Risk factors of perioperative death at a university hospital in Thailand: a registry of 50,409 anesthetics" จากวารสารAsian Biomedicine ฉบับกุมภาพันธ์2551 ในนั้นกล่าวถึงการวิจัยเก็บข้อมูลเพื่อหาว่าผู้ที่ตายในระหว่างการผ่าตัดนั้นมีปัจจัยเสี่ยงอะไร
ตรงที่ผมขีดเส้นแดงไว้ เป็นส่วนที่แปลเป็นไทยห้วนๆได้ว่า การใช้ยาสลบที่มีชื่อว่าDesfluraneเสี่ยงต่อการตายระหว่างการผ่าตัดมากกว่าปกติ6.64เท่า ส่วนการใช้ยาสลบที่ชื่อว่าNitrous oxide เสี่ยงต่อการตายระหว่างการผ่าตัดน้อยกว่าปกติ 0.38เท่า ... ฟังดูแล้วทำให้รู้สึกว่าเจ้ายาDesfluraneเป็นยาที่น่ากลัวและไม่น่าใช้เอาเสียเลย พาลให้สงสัยไปว่าทำไมแพทย์ยังใช้ยาที่น่ากลัวอย่างนี้... แถมไปว่าถ้าใครตายระหว่างผ่าตัดแล้วแพทย์ใช้ยานี้อาจจะเกิดจากความเลินเล่อไปใช้ยาอันตรายหรือเปล่า
แต่ในความเป็นจริงการแปลอย่างที่ว่านั้นถ้าเป็นแพทย์จะเฉยๆครับ เพราะก็จะอ่านเหตุผลต่อไป ซึ่งก็มีบอกในหน้าท้ายๆว่า เจ้ายาDesfluraneนี้จะถูกใช้ในผู้ป่วยรายที่มีอาการหนักมากๆ ... ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มที่ใช้ยาสลบกลุ่มNitrous Oxideตัวเดียวอยู่แล้ว

ดังนั้นหากข่างนั้นๆมาจากการอ่านเฉพาะบทคัดย่อหรือสรุปความเพียงอย่างเดียว โอกาสที่จะผิดพลาดก็มีสูงครับ

2. ข่าวลงไม่ตรงกับความจริง
ไม่ว่าข่าวนั้นจะเขียนว่าสัมภาษณ์มาจากหมอโดยตรงหรือลอกมาจากบทวิจัยโดยตรง ก็ควรต้องชั่งใจเสมอครับ เพราะว่าบางครั้งข้อมูลที่ลงนั้นผิดหรือคลาดเคลื่อนไปจากความจริง ... เพียงแค่คำเดียวที่ผิดไป บางครั้งใจความก็เปลี่ยนไปได้มาก
ง่ายๆก็อย่างตัวเลข เขียนศูนย์เพิ่มหรือขาดไปตัวเดียวก็ผิดไปจากความจริงได้
กรณีนึงที่ลงในหนังสือพิมพ์แล้วพอแพทย์ไปอ่านแล้วเกิดความสงสัยก็อย่างเช่นกรณีนี้ครับ

http://www.bangkokbiznews.com/2007/11/19/WW54_5401_news.php?newsid=202260
"รพ.จุฬาทดสอบวิธีใหม่รักษาไต"
"ทำให้การรักษาไม่ดีเท่าที่ควร จึงศึกษาหาดัชนีการตรวจวินิจฉัยใหม่ และพบว่า "แมกนีเซียม" ที่พบในเลือด สัมพันธ์กับภาวะไตอักเสบเช่นกัน
ปริมาณแมกนีเซียมในเลือด สามารถบ่งชี้ถึงอัตราการตายของเนื้อไตตั้งแต่ 5% ขึ้นไป ในทางปฏิบัติแพทย์สามารถตรวจดูดัชนีทั้งสองควบคู่กันคือ คริอาตินินและแมกนีเซียม สำหรับวินิจฉัยผู้ที่เป็นโรคไตในขั้นต้น "

อาจารย์ที่ทำวิจัย เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้นโดยฉพาะ ข่าวที่ลงก็ลงได้ละเอียดน่าเชื่อถือ ... ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด ไม่น่าจะเป็นการสร้างข่าว

แต่แพทย์บางท่านเกิดความสงสัยว่าเป็นไปได้จริงหรือ เพราะว่าปกติแล้วมีหลายโรคที่พบได้บ่อยที่ทำให้ค่าแมกนีเซียมใน"เลือด"ผิดปกติได้จนไม่น่าจะเอามาตรวจได้อย่างชัดเจนอย่างในข่าว
... แต่หากเฉลียวใจสักนิดนึงแล้วไปหางานวิจัยที่อาจารย์ท่านนี้เคยทำ จะเห็นว่างานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นเรื่องการตรวจค่าที่เรียกว่า FE magnesium ซึ่งแปลได้ว่าสัดส่วนของแมกนีเซียมที่ถูกขับออกจากร่างกาย ... ซึ่งจะต้องมีการเก็บเอาปัสสาวะไปตรวจหาค่าแมกนีเซียมด้วย ไม่ใช่การเจาะเลือดดูค่าในเลือดแต่เพียงอย่างเดียวแต่อย่างใด

เรื่องนี้อาจจะดูเล็กน้อยครับ แต่ในความเป็นจริงมีคนที่ไปตรวจร่างกายพบค่าบางค่าผิดปกติไปเล็กน้อย ประกอบกับตนเองไปอ่านเจอเรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับค่านี้เข้า พลอยเป็นกังวลโดยไม่จำเป็นและต้องไปแสวงหาการตรวจเพิ่มเติมเป็นที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

3. ต่างประเทศกับประเทศไทย
บางสิ่งบางอย่างที่เราต้องรู้ไว้คือ โรคของคนไทยไม่ได้เหมือนกับโรคของชาวตะวันตกไปซะทุกโรค หลายโรคที่ทางนั้นมีแต่บ้านเราไม่มี และหลายโรคที่บ้านเรามีแต่ทางนั้นถือเป็นของหายาก
ข่าวเรื่องความก้าวหน้าทางการแพทย์จำนวนมาก เป็นการดึงข่าวจากต่างประเทศมาแปลโดยตรง ดังนั้นหลายๆครั้งเรื่องที่ดูใหญ่และน่ากลัวในบ้านเขา อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือไม่ค่อยมีความสำคัญในประเทศไทยเลยก็ได้ครับ

4. คนเราชอบของแปลก
ที่ข่าวเป็นข่าว ก็เนื่องมาจากมันให้ผลที่ขัดกับความรู้สึกสามัญ หรือขัดกับความเชื่อเดิมๆที่เคยมีมา
เรื่องทางการแพทย์ก็เช่นกันครับ เรื่องอะไรที่แปลกๆก็ย่อมเอามาเขียน สังเกตเห็นอะไรผิดปกติก็เอามาเขียน(เพราะของที่ปกติเจอบ่อยๆ ก็ย่อมรู้จากหนังสืออยู่แล้ว)
หรืองานวิจัยถ้าปกติเหมือนเดิม ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่ถ้ามันแปลกไปจากความเชื่อความรู้เดิมๆ ก็จะมีคนสนใจเอาไปกระจายข่าว
เอาเรื่องง่ายๆที่เห็นเด่นชัดครับ โรคกระเพาะธรรมดาๆนี่เอง
เวลารักษาไม่หายบางคนก็ไปกังวลว่าจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า จะติดเชื้อไหม จะมีภาวะหรือโรคต่างๆที่ซ่อนอยู่หรือไม่ มีบทความที่พูดถึงอาการโรคกระเพาะที่เกิดจากการติดเชื้อมะเร็งโรคทางลำไส้ถุงน้ำดีฯลฯมากมาย ทั้งหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ
แต่ไม่ค่อยมีใครเน้นเรื่องโรคกระเพาะและแผลในกระเพาะของเมืองไทย ที่สาเหตุรวมๆแล้วมาจากการกินเหล้าสูบบุหรี่และการใช้ยาแก้ปวด/ยาสเตียรอยด์ มากกว่าที่จะเกิดจากสาเหตุแปลกๆที่ว่าไป
ที่สำคัญไปกว่านั้น เรื่องบางอย่างเป็นเรื่องที่ใหม่เกินไปที่จะตัดสินได้ว่ามีประโยชน์จริงหรือไม่ หรือว่าอาจจะมีโทษ โดยเฉพาะเรื่องยาชนิดใหม่ๆที่ออกมาว่ามีสรรพคุณหรือความสามารถสูงๆ ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่จะมักจะไม่ใช้ยาเหล่านี้จนกว่าข้อมูลที่ออกมาจะชัดเจนพอ (ไม่ต้องการให้ไปเป็นหนูลองยา)


5. ของบางอย่างมันมีมุมมองสองด้าน
มุมมองสองด้านนี้มีสองแง่ครับ แง่แรกคือแง่วิชาการ อีกแง่คือแง่การปฏิบัติจริง ในภาษาอังกฤษจะเรียกเรื่องนี้ว่าเป็น Controversy
ยกตัวอย่างเรื่องการแพ้ยาอย่างรุนแรง ... สมัยก่อนจะมีสองขั้วก็คือขั้วหนึ่งให้สเตียรอยด์ เพราะต้องการลดการแพ้ ... ในขณะอีกขั้วหนึ่งจะไม่ให้เพราะกลัวว่าจะเกิดการติดเชื้อ
ถ้าให้ "อาจจะ" ลดอาการแพ้ได้ แต่ "อาจจะ"เสี่ยงต่อการติดเชื้อจนตาย
ถ้าไม่ให้ "อาจจะ"ไม่ติดเชื้อเพิ่ม แต่ "อาจจะ"เสี่ยงต่อการแพ้จนสูญเสียอวัยวะหรือตาย
แต่อย่างสังคมไทยปัจจุบัน ผมเชื่อว่าข่าวสารที่ออกมาก็คือ ถ้าแพ้ "ต้อง" ให้สเตียรอยด์ ถ้าไม่ให้แปลว่าผิดไปจากมาตรฐาน
ซึ่งความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ยังต้องหาข้อสรุปทางวิชาการที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่การนำเอาความเห็นของคนๆเดียวหรือหนังสือเล่มสองเล่มมาลงจนดูเหมือนเป็นมาตรฐานการรักษาที่ถูกต้องไป

อ่านมาจนถึงตอนนี้แล้ว หลายคนอาจจะเกิดความคิดสงสัยว่าแล้วอย่างนี้เราจะเชื่อใครได้
ประการแรกเลย ในหลายๆโรคหลายๆภาวะ องค์กรของแพทย์กลุ่มต่างๆจะมีการกำหนดมาตรฐานแนวทางการรักษากว้างๆขึ้นมา เพื่อให้แพทย์ในส่วนต่างได้นำเอาไปใช้ โดยแนวทางการรักษานี้เป็นสิ่งที่ดัดแปลงจากองค์ความรู้ทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ
ประการต่อมาคือปรึกษาจากผู้ที่ทำการรักษาในพื้นที่นั้นๆครับ เพราะมุมมอง ประสบการณ์ และข้อจำกัดภายในพื้นที่นั้นๆ เป็นสิ่งที่กำหนดการรักษาที่สำคัญ ... เพราะแนวทางการรักษาที่ออกมานั้นเป็นเพียงมุมมองในระดับกว้างๆเท่านั้น แต่ว่าพื้นที่แต่ละแห่งมีข้อจำกัดที่ต่างๆกันไปซึ่งผู้ที่ทำงานในพื้นที่จึงจะรู้ข้อจำกัดนั้นๆและใช้ได้ผลดี
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยู่อเมริกา จะบอกว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ต้องมีCT อัลตราซาวน์ตรวจเพิ่มเติม ในขณะที่เมืองไทยถ้ารอตรวจเหล่านั้นอาจจะไส้ติ่งแตกกันไปหมดก่อนเพราะเครื่องมีไม่พอ
หรือแม้แต่ในจังหวัดใกล้ๆกัน จังหวัดนึงอาจจะมีหมอผ่าตัด3คน แต่อีกจังหวัดมีคนเดียว ... ถ้าให้ผู้ป่วยไส้ติ่งไปผ่าที่รพ.จังหวัดทั้งหมด จังหวัดที่มีหมอผ่าตัดคนเดียวอาจจะพบกับผู้ป่วยที่รอผ่าตัดนานจนกระทั่งไส้ติ่งแตกตายมากกว่าก็ได้
ประการสุดท้าย ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ คุณก็สามารถสอบถามได้จากแพทย์ที่รักษา หรือขอความเห็นเพิ่มเติมจากแพทย์ท่านอื่นๆได้ต่อไป


อ้อ ผมลืมเรื่องที่ต้องคิดให้มากอีกเรื่องไปครับ

6. เรื่องนั้น เป็นเรื่อง"มั่ว"ตั้งแต่ต้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือประดาฟอร์เวิร์ดเมล์ทั้งหลายไงครับ ของเหล่านี้ถ้าไม่มีที่มาที่ไปก็ระวังไว้ก่อนดีกว่าครับ กริ กริ

No comments: