ใน ประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น อัตราค่าจ้างแรงงานจะสูง จึงได้มีการคิดอ่านประดิษฐ์ อุปกรณ์ที่เคลื่อนไหวได้เองขึ้นใช้แทนแรงงานมนุษย์ เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ การผลิตที่ต้องสัมผัสกับสารพิษอันตราย ใช้ให้เก็บกู้วัตถุระเบิด ฯลฯ และปัจจุบันนี้ยังพยายามสร้างหุ่นยนต์ ที่มีลักษณะละม้ายคล้ายมนุษย์ เพื่อเอามาใช้สำหรับงานบ้านแทน อุปกรณ์ ต่างๆ ที่ว่ามานี้เรียกกันว่า โรบ็อท (ROBOT)
ซึ่งหากเราจะนิยามความหมายของโรบ็อทก็จะได้ว่า คือ เครื่องจักรที่สามารถเคลื่อนไหวและทำงานได้โดยตนเอง ไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างอย่างมนุษย์ ส่วนเครื่องจักรที่ใช้รีโมตควบคุมนั้น ไม่ถือว่าเป็นโรบ็อทของแท้ แม้แต่เครื่องจักรอัตโนมัติที่ทำงานซํ้าๆ อยู่กับที่เราก็ไม่ถือว่าเป็นโรบ็อทเช่นกัน เพราะมันทำงานได้จำกัดเพียงอย่างเดียว คอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่โรบ็อท เพราะมันเคลื่อนไหวไม่ได้ หากทว่ามันเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญยิ่งของโรบ็อท
อันคำว่า "โรบ็อท" นี้มีกำเนิดมาจากนักเขียนบทละครชาวเชโก-สโลวะเกีย นามว่า คาเรล คาเพ็ก (Karel Capek) เขาได้แต่งละครเรื่องหนึ่งขึ้นในปี ค.ศ.1920 ในชื่อ "โรบ็อทของรอสซั่ม (Rossum's Universal Robots)" เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่ลักษณะคล้ายมนุษย์ ซึ่งเขาขนานนามมันว่า โรโบตา (ROBOTA) แปลว่า กรรมกรผู้ทำงานหนัก และพอละครเรื่องนี้ไปแสดงที่กรุงลอนดอนในปี ค.ศ.1923 คำว่าโรบ็อทในภาษาอังกฤษก็แพร่สะพัดตั้งแต่นั้นมา
แต่อันที่จริง มนุษย์ได้มีการประดิษฐ์ อุปกรณ์ที่เคลื่อนไหวได้มาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์แล้วครับ โดยชาวกรีกเรียกมันว่า ออโตมาตา (automata) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "อัตโนมัติ" นั่นเอง
เจ้าออโตมาตาชิ้นแรกของโลกประดิษฐ์ขึ้นในราว 400 ปี ก่อน ค.ศ. โดยฝีมือนักวิทยาศาสตร์กรีกชื่อ อาร์คายตาส (ARCHYTAS) แห่งตาเรนตัม เขาทำนกพิราบเทียมที่สามารถบินวนอยู่รอบๆ แขนเขาได้ ปีกของมันขยับขึ้นลงโดยอาศัยพลังงานไอนํ้าหรือแรงลม อาร์คายตาสไม่ได้ทำขึ้นเพื่อเป็นของเล่นเด็กหรอกครับ แต่ใช้มันในการขบคิดทฤษฎีคำนวณเกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ
ออโตมาตาที่โด่งดังต่อมาในศตวรรษที่ 18 ก็คือ "นักเป่าขลุ่ย (FLAUTIS)" สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1783 โดยวิศวกรฝรั่งเศสชื่อ Jacques de Vaucanson หุ่นยนต์ของเขาสามารถเป่าขลุ่ย ออกมาได้ถึง 12 เพลง อย่างไพเราะ โดยมีการขยับนิ้วมือที่ทำด้วยไม้และมี "ปอดเทียม" ด้วย บรรเลงได้ดีจนบางคนเชื่อมั่นว่าต้องมีนักดนตรี ตัวจริงแอบแฝงอยู่ภายในเครื่องแน่ๆ
และในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น คือ ปี ค.ศ. 1769 นักประดิษฐ์ชาวเยอรมันชื่อ โวล์ฟกัง ฟอน เคมเปเลน ก็ได้สร้างหุ่นยนต์เล่นหมากรุกขึ้น โดยเรียกมันว่า "เดอะเติร์ค (THE TURK)" มันสามารถเล่นหมากรุก สู้กับคนได้แบบ (เดิน) ตาต่อตา แถมยังเก่งกาจเอาชนะ ได้เป็นส่วนใหญ่เสียด้วย หากทว่าแท้ที่จริงแล้วมีนักเล่นหมากรุก มืออาชีพซ่อนตัวอยู่ภายในโต๊ะ และคอยขยับเดินตัวหมาก แหม...แบบนี้ ถือเป็นการหลอกลวง ไม่ใช่ โรบ็อทของแท้แต่อย่างใด
ปลาย ศตวรรษที่ 18 นี้ เป็นยุครุ่งเรืองของหุ่นยนต์ เพราะในปี ค.ศ.1795 ก็มีผู้ประดิษฐ์ของเล่นชิ้นหนึ่งถวายสุลต่าน ทิปปู แห่งอินเดีย เรียกกันว่า "พยัคฆ์แห่งไมซอร์ (THE TIGER OF MYSORE)" เป็นรูปเสือโคร่งทำด้วยไม้ ภายในมีออร์แกนซ่อนอยู่ ไอ้เสือตัวนี้อยู่ใน ท่าหมอบ ตะปบทหารอังกฤษที่นอนแผ่หรา พอหมุนก้านยนต์ที่ไหล่ เจ้าเสือมันก็ขยับเคลื่อนไหวพร้อมกับส่งเสียงขู่คำราม ส่วนทหารเคราะห์ร้ายก็ดิ้นรนและร้องโหยหวน ซึ่งเสียงต่างๆ ก็เกิดจากออร์แกน ที่มีการอัดลมเอาไว้นั่นเอง
อุปกรณ์ของเล่นกลเหล่านี้นิยมทำขึ้นกันมาก โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและฝรั่งเศส จัดว่ามีการใช้เทคนิคแปลกๆ ที่ทำให้คนดูพิศวงไปตามๆ กัน
"เอ...มันทำได้ยังไงหวา"
อย่างเช่น ในช่วง ค.ศ.1615-1865 มีการพัฒนาหุ่นกลนี้ขึ้นหลากหลายใน ญี่ปุ่นเรียกกันว่า คารา คูริ และเจ้าหุ่นกลคาราคุริที่น่าทึ่งที่สุด ก็คือตุ๊กตาสาวเสิร์ฟนํ้าชา โดยเมื่อเจ้าของบ้านวางถ้วยนํ้าชา ลงบนถาดที่เจ้าตุ๊กตาหุ่นถืออยู่ นํ้าหนักของถ้วยจะไปกดกลไกด้านล่าง เจ้าตุ๊กตาหุ่นก็จะเริ่มออกเดินช้าๆ ไปหาแขกผู้มาเยือน เมื่อแขกยกถ้วยนํ้าชาขึ้นจากถาด มันก็จะหยุดอยู่กับที่ พอแขกดื่มแล้วและวางถ้วยคืนบนถาด เจ้าตุ๊กตาจะหมุนตัวกลับ แล้วเดินไปอยู่ที่เดิมของมัน...
แต่นั่นก็ยังเป็นโรบ็อทที่ไม่สมบูรณ์แบบ ตามที่มนุษย์ใฝ่ฝัน หุ่นยนต์ตามจินตนาการของมนุษย์ ต้องทำอะไรๆ ได้เกือบเท่าคน ดังจะเห็นได้จากในนิยาย หรือภาพยนตร์ต่างๆ
อย่างเช่น เจ้าหุ่นของรอสซั่มที่กล่าวมาแล้ว หรือในหนังเงียบเรื่อง "เมโทรโปลิส (Metropolis)" ที่สร้างขึ้นใน ค.ศ.1926 โดยฝีมือผู้กำกับฯ เยอรมันชื่อ ฟริทซ์ แลง มีการใช้หุ่นยนต์ผู้หญิง ซึ่งสามารถเคลื่อนไหวได้ราวกับคนจริงๆ (ใช้เทคนิคถ่ายทำนะครับ เคลื่อนไหวเองไม่ได้) ถือกันว่าเจ้าหุ่นตัวนี้แหละที่เป็นแม่แบบโรบ็อทตัวแรกของโลก
ถัดมาในปี ค.ศ.1956 หนังเรื่อง "โลกต้องห้าม (Forbidden Planet)" เมื่อกัปตันอดัมส์ร่อนยานอวกาศลงบนดาวดวงหนึ่ง ก็มีหุ่นยนต์ ร็อบบี้ เดอะ โรบ็อท มาต้อนรับ
"คุณพูดอังกฤษได้มั้ย" เจ้าร็อบบี้ทักทาย "ถ้าพูดไม่ได้ ผมก็ยังพูดภาษาอื่นได้อีก 187 ภาษา บอกมาละกัน"
เจ้า ร็อบบี้ เดอะ โรบ็อทได้เป็นต้นแบบของตุ๊กตาหุ่นยนต์ของเล่นอีกมากมาย ในรูปแบบของกล่องที่มีสองขาเดินเตาะแตะ ส่วนใหญ่จะใช้การไขลาน
โรบ็อทอีกตัวหนึ่งซึ่งโด่งดังในช่วงปี ค.ศ.1963-1989 อยู่ในหนังทีวีซีรี่ส์ของอังกฤษเรื่อง "Doctor Who" หน้าตาไม่เหมือนคนหรอก แต่เป็นแท่งโลหะที่เลื่อนไปมาได้ในชื่อ เจ้า "ดาเล็คส์"
แล้วก็มีที่แฟนหนังพันธุ์แท้ต้องรู้จักกันดี คือเจ้า "ซีทรีพีโอ" กับ "อาร์ทูดีทู" ในหนัง "สตาร์วอร์" สร้างใน ค.ศ.1980
และหุ่นยนต์มือปราบบู๊ดุเดือดในชื่อ "โรโบค็อป" สร้างใน ค.ศ.1987 โดยเมื่อโปลิศหนุ่ม อเล็กซ์ เมอร์ฟี่ โดนฆาตกรรม สมองของเขาถูกนำมาใส่ในหุ่นยนต์ระดับอัลติเมต กลายเป็น "โรโบค็อป" ตามล่าอาชญากรทั้งหลายจนเกลี้ยงเมือง
ส่วนในโลกแห่งความจริง มนุษย์ได้ประดิษฐ์ โรบ็อท ไว้ใช้งานหลายหลาก เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ใช้ประกอบการเรียนการสอน ใช้ในห้องแล็บ ใช้เป็นอุปกรณ์การแพทย์ ใช้เป็นรถสำรวจบนพื้นผิวดาวเคราะห์หรือพระจันทร์ แม้กระทั่งในด้านการดนตรีและศิลปกรรมต่างๆ ก็มีการนำเอาโรบ็อทมาใช้ประโยชน์ได้
แต่ สุดยอดโรบ็อทที่มนุษย์ต้องการก็คือ หุ่นยนต์ ที่มีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด เดินได้ หยิบจับอะไรต่ออะไรได้ ถือไม้กวาดและผ้าขี้ริ้วทำความสะอาดบ้านได้เองโดยไม่ต้องสั่ง เรียกว่าทำได้สารพัดอย่าง เช่นเดียวกับผู้ช่วยแม่บ้านชั้นดี ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการพัฒนาโรบ็อทแบบนี้จนถึงระดับหนึ่งแล้ว
อย่างเช่น เจ้าอาซิโม (ASIMO) ที่ฮอนด้าสร้างขึ้นใน ค.ศ.2000 หลังจากเพียรค้นคิดอยู่นานถึง 14 ปี และเจ้าโรบ็อทที่พัฒนาขึ้นล่าสุดใน ค.ศ.2003 เจ้ามีช่า (MECHA) หรือ HRP-2 ที่บริษัทคาวาดาของญี่ปุ่นผลิตขึ้นให้เป็นโรบ็อทแห่งอนาคต สามารถลุกขึ้นยืนเองได้เมื่อหกล้ม
ยังไม่พอ...ยังไม่เพียงแต่เป็นหุ่นโลหะไร้จิตใจเท่านั้น มันจะต้องมีความรู้สึกดีใจ เศร้าใจ โกรธเป็น รู้จักนึกคิดเองอีกตะหาก
ถึงจะเป็นโรบ็อทสมบูรณ์แบบ
http://www.artsmen.net/content/show.php?Category=mythboard&No=4306
No comments:
Post a Comment