Can't find it? here! find it

Saturday, June 20, 2009

Manufactoring revolution

การปฏิวัติอุตสาหกรรม

การ ปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 อันเป็นสมัยแห่งการสำรวจ ค้นพบโลกใหม่และสมัยแห่งการขยายตัวทางการค้า ซึ่งทำให้เกิดความต้องการเพิ่มปริมาณสินค้าเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่าง ประเทศ

เพื่อเพิ่มจำนวนของสินค้า ในระยะแรกกลุ่มพ่อค้า นายทุนได้ใช้วิธีการนำวัตถุดิบรวมทั้งเครื่องมือทางการผลิตว่าจ้างให้ช่างทำ การผลิตสินค้าตามที่ตนต้องการ แล้วนำผลผลิตสำเร็จรูปส่งออกขายเอากำไร วิธีการผลิตนี้เรียกกันว่า “ระบบการผลิตในครอบครัว” (Domestic system) อย่างไรก็ตาม เมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น จึงมีการประดิษฐ์ คิดค้นเครื่องจักรเข้ามาตอบสนอง โดยในศตวรรษที่ 18 สามารถประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำและนำมาพัฒนาเป็นเครื่องจักรทอผ้าได้เป็นผล สำเร็จ

เมื่อกล่าวถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติอุตสาหกรรม คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต จากการใช้แรงงานคน สัตว์ มาสู่การใช้แรงงานเครื่องจักรกล รวมทั้งการปรับเปลี่ยนลักษณะทางการผลิตจากระบบการผลิตในครอบครัวมาสู่ระบบ การผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรม (Factory) สินค้าจะถูกผลิตขึ้นคราวละมาก ๆ และมีลักษณะเหมือน ๆ กัน ซึ่งแตกต่างจากการผลิตงานฝีมือจากช่างฝีมือ

การ ปฏิวัติอุตสาหกรรมมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ครั้ง คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ค.ศ. 1760 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ค.ศ. 1880 และการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ค.ศ. 1950 (จะกล่าวถึงการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศในส่วนของยุคโลกาภิวัตน์)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษใน ค.ศ. 1760 โดยมีการนำเอาเครื่องจักรไอน้ำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องจักรทอผ้าและใช้ถ่านหิน เป็นพลังงานทางการผลิต การที่ประเทศอังกฤษประสบความสำเร็จในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่อังกฤษอย่างมหาศาล และกลายเป็นต้นแบบหรือแนวทางให้ประเทศอื่น ๆ ดำเนินการตาม ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของพื้นที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมจากประเทศอังกฤษไปสู่ ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมัน อเมริกาในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 19 ตามลำดับ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศรัสเซียและญี่ปุ่นราวปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้น

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 อยู่หลายประการ เช่น มีการปรับเปลี่ยนพลังงานทางการผลิตจากพลังงานถ่านหินมาสู่การใช้พลังงาน ไฟฟ้า ก๊าซและน้ำมัน ระบบการผลิตแม้ว่าจะเป็นระบบการผลิตแบบโรงงาน แต่ก็มีการพัฒนาวิธีการผลิต โดยการนำเอาระบบสายพานหรือระบบเทย์เลอร์ (Taylorism) (เรียกตามชื่อผู้คิดค้น คือ เฟรเดอริค วินสโลว์ เทย์เลอร์) มาใช้เพื่อเพิ่มความเร็วและจำนวนของสินค้า ตัวสินค้าเองก็ปรับเปลี่ยนจากผ้าเข้าสู่สินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงตามพลังงาน ใหม่ที่ค้นพบและใช้เหล็กกล้าเป็นวัสดุหลักทางการผลิต เช่น การประดิษฐ์รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

อนึ่ง หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อตัวขึ้นในตะวันตก การปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและ รุนแรง ทั้งในมิติของการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและช่องว่างทางสังคม ซึ่งได้กลายเป็นฟันเฟืองหลักที่คอยขับเคลื่อนให้เกิดปรากฏการณ์อื่น ๆ ตามมาอย่างเป็นลูกโซ่ กล่าวคือ ในบริบทของการเพิ่มขึ้นของสินค้าจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศตะวันตกเกิดความต้องการทั้งแหล่งวัตถุดิบและตลาดเพื่อรองรับภาค การผลิตอุตสาหกรรมภายใน

ด้วยเงื่อนไขนี้ได้ผลักดันให้ประเทศตะวัน ตกเริ่มทำการล่าอาณานิคมขึ้นอีกระรอก การล่าอาณานิคมครั้งนี้เรียกกันว่าเป็น “จักรวรรดินิยมยุคใหม่” ที่เป็นการใช้อำนาจเข้าไปยึดครองดินแดนอื่นให้เป็นอาณานิคม เจ้าอาณานิคมจะบีบบังคับให้ประเทศอาณานิคมผลิตสินค้าราคาถูกเฉพาะอย่างป้อน โรงงานอุตสาหกรรมของตน แล้วนำสินค้าอุตสาหกรรมส่งกลับเข้ามาขายยังอาณานิคม ยกตัวอย่างเช่นอังกฤษบีบบังคับให้อาณานิคมอินเดียผลิตฝ้ายเพื่อป้อน อุตสาหกรรมทอผ้า แล้วนำผ้ากลับเข้ามาขายยังอินเดีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศตะวันตกที่ทำการปฏิวัติอุตสาหกรรมมีด้วยกันหลายประเทศ แต่ละประเทศต่างแข่งขันแสวงหา แย่งชิงอาณานิคมอันเปรียบเสมือนแหล่งที่มาแห่งโภคทรัพย์ จนเกิดการกระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งจากการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจยุโรปดังกล่าว ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ในมิติของช่องว่างทางสังคมนั้น แม้การปฏิวัติอุตสาหกรรมจะทำให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกสามารถผลิตสินค้าได้ เป็นจำนวนมาก แต่ความมั่งคั่งร่ำรวยก็มิได้เกิดกับสังคมโดยรวมแต่ประการใด กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์เป็นเพียงคนกลุ่มน้อย คือ กลุ่มชนชั้นนายทุนเท่านั้น ส่วนกลุ่มกรรมกรหรือชนชั้นกรรมาชีพนั้นต้องทนทุกข์ทรมาน ทำงานหนักถึงวันละ 12 – 16 ชั่วโมง ได้รับค่าแรงต่ำ กรรมกรหญิงและเด็กมักถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย สภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงานไม่เหมาะสม รวมถึงไม่มีกฎหมายประกันสวัสดิการแรงงานใด ๆ ทั้งสิ้น

สภาวการณ์ที่ โหดร้ายต่อชนชั้นกรรมาชีพข้างต้น ได้ก่อให้เกิดความพยายามที่สร้างสรรค์สังคมที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น ความพยายามดังกล่าว คือ การนำเสนอลัทธิมาร์กซิส โดยคาร์ล มาร์กซ์ ที่เน้นการปฏิวัติทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเข้าสู่การปกครองแบบคอมมิวนิสต์และแก้ไขความสัมพันธ์ ทางการผลิตที่ไม่เท่าเทียม แนวคิดของมาร์กซ์ ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริงและกลายเป็นแนวคิดของการปฏิวัติในหลายพื้นที่ เช่น การปฏิวัติรัสเซียโดยเลนิน หรือ การปฏิวัติในจีนโดยเหมา เจ๋อ ตุง เป็นต้น

No comments: