ซามูไร ยามาดะ เข้ามาในช่วงกรุงศรีอยุธยา สมัยพระเจ้าทรงธรรม ( ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2153 – 2171 ) ซึ่งในสมัยนั้น พระเจ้าทรงธรรมทรงสนพระทัยการทูตกับญี่ปุ่นมาก ถึงกับได้ส่งคณะฑูตจำนวน 60 คนของพระองค์ ไปถึงเมืองเอโดะ ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2164 โดยมีพระราชสาส์นที่มีใจความโดยสรุปว่า อยุธยา ดูแลเอาใจใส่ชาวญี่ปุ่นดังราษฏรของอยุธยาเอง โดยได้ให้อยู่เป็นหมู่บ้านและได้โปรดให้ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อไทยว่า ขุนไชยสุนทรเป็นนายอำเภอดูแลชาวญี่ปุ่นด้วยและในการนี้ทรงโปรดให้พ่อค้าเรือ สำเภามาค้าขายกับอยุธยาให้มากขึ้นเพื่อพระราชไมตรีต่อกัน
การเดิน ทางกลับของคณะฑูตไทยในครั้งนี้ ได้มี ซามูไรชั้นผู้น้อยคนหนึ่งขอเดินทางกับมากับคณะทูตด้วย ซามูไรผู้นี้นามว่า “ยามาดะ นางามาซะ” ซึ่งท่านผู้นี้เป็นเพียงคนหามเกี้ยวของโชกุนเท่านั้น ฉะนั้นเหตุผลของการเดินทางเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้คงหนีไม่พ้น เหตุผลที่ว่า มาเพื่อแสวงหา สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ซามูไร ยามาดะ เมื่อเข้ามาอยู่ในไทยก็ทำงานขยันขันแข็ง จนได้รับราชการในกรมอาสาญี่ปุ่น และเป็นเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาในชื่อออกญาเสนาภิมุข (ตำแหน่ง ออกญา เทียบเท่า พระยา )
ก่อน สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตได้มอบราชสมบัติไว้ให้พระราชโอรสองค์ใหญ่พระชนมา ยุเพียง 14 พรรษา นั่นคือ สมเด็จพระเชษฐาธิราช แทนที่จะมอบราชสมบัติให้พระศรีศิลป์ พระราชอนุชา ที่ไปผนวชอยู่ตามธรรมเนียม ทำให้ขุนนางทหารต่างหวั่นเกรงว่าพระศรีศิลป์อาจจะลาสิกขาบทมาแย่งชิง พระราชสมบัติเหมือนที่พระเจ้าทรงธรรมเคยทำในอดีต จึงได้ระดมทหาร 14,000 คน เข้ามาจุกช่องล้อมวัง พร้อมกับซามูไรฝีมือเยี่ยม 600 คน ที่อยู่ในบังคับบัญชาของ ซามูไร ยามาดะ ออกญาเสนาภิมุข ซี่งในระหว่างนี้ เจ้าพระยาศรีวรวงศ์ ออกญากลาโหม ได้สั่งฆ่าขุนนางชั้นพระยา 5 คนที่ไม่เข้าข้างกับการระดมทหารเข้าล้อมวัง
ในครั้งนี้ แต่ยังขุนนาง 2 คนที่ซามูไร ยามาดะเข้ามาช่วยไว้ได้ทัน นั่นคือ ออกพระศรีเสาวรัตน์ และออกพระจุฬา ซึ่งการกระทำของ ซามูไร ยามาดะในครั้งนี้ได้สร้าง ความโกรธให้กับเจ้าพระยาศรีวรวงศ์มาก แต่ด้วยความที่ซามูไร ยามาดะมีกองกำลังซามูไรฝีมือเยี่ยมหลายคนอยู่ในบังคับบัญชา จึงได้ให้ซามูไรยามาดะทำงานลบความผิด
โดยให้ไปหลอกพระศรีศิลป์ให้ลา ผนวชเพื่อนำมาประหารให้ได้ ซามูไรต้องการลบล้างความผิดจึงได้ไปหลอกพระศรีศิลป์ว่าให้ลาผนวชแล้วจะแย่ง ราชสมบัติให้ พระศรีศิลป์ทรงหลงเชื่อจึงถูกจับส่งไปเพชรบุรีโดยถูกนำไปปล่อยไว้ในบ่อลึก ที่ไม่มีน้ำเพื่อให้อดอาหารตายอย่างช้าๆ แต่การนี้ไม่สำเร็จ เนื่องจากได้มีขุนศึกท่านหนึ่งได้เสี่ยงชีวิต เข้ามาช่วยเหลือพระศรีศิลป์ในครั้งนี้ นั่นคือออกหลวงมงคล มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระศรีศิลป์ ( พระศรีศิลป์ถือได้ว่าเป็นลูกของป้า )
ออกหลวงมงคลรับราชการที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคนหนุ่มที่เฉลียวฉลาด ด้านพิชัยสงคราม คาถาอาคม และการเดินเรือแบบคนนคร ทันทีที่ทราบข่าว ขุนศึกท่านนี้ได้ตามไปช่วยเหลือ พระศรีศิลป์ที่เพชรบุรี ด้วยการลักลอบขุดอุโมงค์ใต้ดินไปประชิดกับบ่อดินที่พระศรีศิลป์ ถูกคุมขังอยู่ แล้วฆ่าทหารคนสนิท เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวกับพระศรีศิลป์ลอบนำพระศรีศิลป์ไปรักษาพระองค์ที่วัด แห่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันออกหลวงมงคลก็ซ้องสุมสมัครพรรคพวกได้กำลังพล ประมาณ 2 หมื่นเศษในเวลาไม่ช้านักแล้วประกาศตั้ง พระศรีศิลป์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา องค์ที่ 21
จะ ว่าไปแล้ว ซามูไร ยามาดะ กับออกหลวงมงคลถือได้ว่าเป็นเพื่อนสนิทเลยก็ว่าได้ เพราะมีความชอบพอสนิทสนมกันเป็นพิเศษ มาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าทรงธรรมส่งคณะราชทูตจากเมืองไทยไปญี่ปุ่น โดยก่อนออกเดินทางทุกครั้งคณะทูตจะแวะนครศรีธรรมราชทุกครั้งและ เจ้านครจะโปรดให้ขุนมงคลร่วมเดินทางไปกับคณะทูตด้วย ด้วยเหตุนี้ ออกหลวงมงคลจึงมีความสนิทสนมกับซามูไร ยามาดา ตั้งแต่อยู่ที่ญี่ปุ่นจนมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันเสมอมา
ซามูไร ยามาดะหลอกเพื่อนสนิท
หลัง จากที่มีการประกาศตั้ง พระศรีศิลป์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา องค์ที่ 21 ความทราบถึง พระเจ้าเชษฐาธิราช ผู้เป็นหลานทรงส่งทหาร 30,000 เศษไปเพชรบุรี และซามูไร ยามาดะกับพวก 800 คน ซึ่งการวางแผนทำศึกของซามูไร ยามาดะในครั้งนี้ได้ใช้แผนเดิม โดยส่งคนลอบไปหาออกหลวงมงคลบอกว่าจะเข้าข้างโดยทำทำช่วยรบอยุธยาให้ฝ่ายออก หลวงมงคลรบเบาๆ อย่าจริงจัง ฝ่ายออกหลวงมงคล ก็หลงเชื่อเพราะเคยเป็นเพื่อนซี้ย่ำปึ๊กกันมาตั้งแต่อยู่ที่ญี่ปุ่น จึงได้ยอมทำตามอุบายของซามูไร ยามาดะ ปรากฏว่าทัพฝ่ายออกหลวงมงคลจึงแตกพ่าย พระศรีศิลป์ได้เสด็จหนีไปนครศรีธรรมราช แต่ก็ถูกดักจับได้ก่อนด้วยกองทัพเรืออยุธยาที่เมืองไชยา สมเด็จพระเจ้าเชษฐาธิราชโปรดเกล้าฯให้สำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา ก่อนถูกประหาร พระศรีศิลป์ได้ทรงเตือนผู้เป็นหลานว่า เจ้าพระยาศรีวรวงศ์ ออกญากลาโหมจะขบถให้ระวังพระองค์ไว้
ส่วนออกหลวงมงคลหลังจากที่รู้ ว่าโดยซามูไร ยามาดะหลอก และทราบข่าวด้วยว่าพระศรีศิลป์ถูกประหารแล้ว ก็ได้ปลอมตัวเข้ากรุงศรีอยุธยา เพื่อฆ่าเจ้าพระยาศรีวรวงศ์และซามูไร ยามาดะ แต่ไม่สำเร็จ จึงได้หนีไป แต่ท้ายที่สุดเมื่อทางอยุธยาทราบข่าวส่งหน่วยจู่โจมไปจับลูกเมียท่าน ท่านเลยยอมให้ จับด้วยและพร้อมที่จะตายด้วยการถูกประหาร แต่สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงโปรดจะให้เป็นแม่ทัพใหญ่เพราะทรงเห็นความรู้ความ สามารถและความจงรักภักดีเป็นเยี่ยมจึงส่งคนไปเกลี้ยกล่อมแต่ออกหลวงมงคล ปฏิเสธ ยอมถูกประหารให้ตัวตายไปพร้อมกับพระศรีศิลป์ กษัตริย์ไร้บัลลังก์ที่ตนรัก
ประมาณ ปี พ.ศ. 2171 คำทำนายของพระศรีศิลป์ก็เป็นจริงเมื่อเจ้าพระยาศรีวรวงศ์ ปล้นพระราชวังแล้วจับ พระเจ้าเชษฐาธิราชปลงพระชนม์เสีย แล้วยกเอา พระอาทิตยวงศ์ วัย 10 พรรษา พระราชอนุชา ขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทน แต่ต่อมาไม่นาน เจ้าพระยาศรีวรวงศ์ก็กล่าวหา พระอาทิตยวงศ์ ว่า “ไม่รู้จักว่าราชการ เอาแต่เที่ยวเล่นจับแพะชนแกะไปวันๆ” จึงได้วางแผนปลงพระชนม์
แผน การนี้ ทราบถึง ซามูไร ยามาดะ ที่ในขณะนั้นถือว่ามีอำนาจและบทบาททางการเมืองและการทหาร ไม่แพ้เจ้าพระยาศรีวรวงศ์แม้แต่ด้วย กลับไม่เห็นด้วยกับการวางแผนปลงพระชนม์พระอาทิตย์วงศ์ เพราะ
๑.ซามูไร ยามาดะ จงรักภักดีต่อพระเจ้าปราสาท อยากจะให้โอรสของพระองค์คือ พระอาทิตยวงศ์เป็นกษัตริย์ต่อไป
๒. หากพระอาทิตยวงศ์ทรงเป็นกษัตริย์ ซามูไรยามาดะ จะมีอำนาจทางการเมืองสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะพระอาทิตยวงศ์ทรงโปรด ซามูไรยามาดะ มากที่ยอมเป็นเพื่อนเล่นของพระองค์และสอนเพลงดาบซามูไรให้ หากพระอาทิตยวงศ์ได้เป็นกษัตริย์ ซามูไรยามาดะ คงได้ตำแหน่งพระราชครูซึ่งใหญ่ไม่ใช่เล่น
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลในข้อใด ซามูไร ยามาดะ ก็ขัดขวางการปฏิบัติการของเจ้าพระยาศรีวรวงศ์อย่างเต็มที่ แต่ด้วยเจ้าพระยาศรีวรวงศ์ควบคุมพระราชวังไว้และใกล้ชิดพระอาทิตยวงศ์ มากกว่า แผนปลงพระชนม์ก็สำเร็จและ ซามูไร ยามาดะ ก็ถูกล้อมจับ การต่อรองได้เกิดขึ้น โดยซามูไร ยามาดะ ยอมรับการถูกเนรเทศจากกรุงศรีอยุธยาไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แดนอิทธิพลของออกหลวงมงคลเพื่อนสนิทคู่ปรับเก่า โดยเจ้าพระยาศรีวรวงศ์หวังไว้ว่า อย่าให้ซามูไร ยามาดะ อยู่เป็นสุขที่เมืองนครศรีธรรมราช เพราะมีศัตรูคอยทิ่มแทงทั้งภายในและภายนอก จากนั้นเจ้าพระยาศรีวรวงศ์ได้ปราบดาภิเษกตนเองเป็น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์องค์ที่ 24 แห่งกรุงศรีอยุธยา
ซามูไร ยามาดะ ไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนที่เท่าไร ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เรื่องราวที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นดังนี้ ก่อนหน้าที่จะเดินทาง ซามูไร ยามาดะ นั้นมีบุตรชายลูกครึ่งไทย ญี่ปุ่น อายุ 18 ปี 1 คน กับภรรยาคนไทยอยุธยา นามว่า โออิน เมื่อซามูไร ยามาดะ
ผู้พ่อได้เป็น เจ้านคร ผู้ลูกชายก็เลยได้อำนาจไปด้วยอย่างอัตโนมัติ มีเรื่องเล่าว่า พระยานครศรีธรรมราช ซามูไร ได้ทำเรื่องไม่ดีไม่งามไว้มาก
ดังบทช้าน้อง ( กล่อมเด็ก ) ของชาวนครศรีธรรมราช ความว่า
“ไก่อูกเหอ ไก่อูกหางลุ่น
ข้าหลวงญี่ปุ่น ทำวุ่นจับเด็ก
จับเอาแต่สาวสาว บ่าวบ่าวไปทำมหาดเล็ก
ญี่ปุ่นจับเด็ก วุ่นทั้งเมืองนครเอย ”
ต่อ มา ซามูไร ยามาดะ พระยานครศรีธรรมราช ได้บริหารเมืองด้านต่างๆ และได้ส่งบุตรชายและคณะไปเรียกส่วยภาษีจากเมืองปัตตานี้และก็ได้รับการต่อ ต้านจากเมืองปัตตานีโดยเฉพาะชาวต่างชาติในเมืองปัตตานีเช่น ฮอลันดา โปรตุเกส และอังกฤษที่ไม่ชอบญี่ปุ่นที่เข้ามาแข่งขันทางการค้าในปัตตานีและแม้แต่โจร สลัดก็ไม่ชอบซามูไรญี่ปุ่น เนื่องจากซามูไรญี่ปุ่นได้เข้ามาควบคุมน่านน้ำนครศรีธรรมราช ปัตตานี และเส้นทางเดินเรือไปญี่ปุ่นแทนตน คนเหล่านี้จึงช่วยกันแข็งข้อต่อนครศรีธรรมราชไม่ยอมส่งเครื่องบรรณาการตาม ที่ตกลงไว้แถมประกาศทำศึกอีกต่างหาก
ซามูไร ยามาดะ ออกญาเสนาภิมุข พระยานครศรีธรรมราช จึงยกกองทัพไปทำศึกปัตตานี้โดยใช้ชาวญี่ปุ่นในปัตตานีเป็นไส้ศึก ขณะที่การรบยังไม่เสร็จสิ้น พระยานครศรีธรรมราชถูกฟันที่ขาบาดเจ็บจึงยกทัพกลับนครศรีธรรมราชเป็นการชั่ว คราว
การ เพลี่ยงพล้ำของซามูไร ยามาดะ ครั้งนี้ทราบถึงพระเจ้าปราสาททอง พระองค์ทรงโปรดข่าวนี้มาก จึงทรงบัญชาให้ออกพระมะริด เจ้าเมืองไชยา นำยาพิษมาใส่แผลให้โดยหลอก ซามูไร ยามาดะว่าเป็นยาหลวงจากราชสำนักทั้งที่เป็นยาพิษงูผสมยางไม้ชนิดหนึ่ง ทำให้ ซามูไร ยามาดะ เสียชีวิตทันที ในอีกไม่กี่ชั่วโมง สรุปแล้ว ซามูไร ยามาดะ ออกญาเสนาภิมุข พระยานครศรีธรรมราช ได้ถึงแก่กรรมที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2176
นครศรี ธรรมราชมีอายุเก่าแก่กว่าสุโขทัยประมาณ 1,500 ปี มีโบราณสถานมากมายเช่นกำแพงเมืองหรือวังเจ้านครที่เป็นหลักฐานสำคัญแต่พบว่า หลักฐานต่างๆเหล่านี้ได้ถูกทำลายไปสิ้นเพื่อลดบทบาทความยิ่งใหญ่ในอดีตของ เมืองนครศรีธรรมราชลง ดังนั้นหลักฐานพยานการเป็น พระยานครศรีธรรมราชของ ซามูไร ยามาดา ก็ถูกลบให้หายไปตามกาลเวลานั้นด้วยทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจจะเหลือเป็น หลักฐานพยานความเชื่อปรากฏ อยู่ในความรู้สึกและความทรงจำเพียงบทช้าน้อง บทหนึ่ง
ในความคิดของผู้เรียบเรียงมองว่า ซามูไร ยามาดะ ก็เป็นเพียงคนๆ หนึ่งที่มาจากพื้นเพธรรมดาแต่ด้วยต้องการอำนาจความยิ่งใหญ่จึงได้ถูกหลอกใช้ ให้เป็นเครื่องมือของเหล่าขุนนางในกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น จนมัวเมากับสิ่งต่างๆ ลืมความจริงใจและความรักอย่างที่เพื่อนสนิท เช่นออกหลวงมงคลได้มอบให้ในการศึกที่เพชรบุรี ครั้นต่อมาใกล้บั้นปลายชีวิต ซามูไร ยามาดะ ก็ได้รับผลกรรมจากการกระทำของตนที่เคยทำไว้กับเพื่อนสนิทในการทำการศึกกับ ปัตตานีและถูกฟันที่ขาบาดเจ็บ ซึ่งเชื่อกันว่าการรบครั้งนั้น ทัพนครศรีธรรมราชไม่เต็มใจสู้เพราะไม่ชอบ ซามูไร ยามาดะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นญาติพี่น้องของออกหลวงมงคลก็เป็นได้ จึงทำให้ในระหว่างการรบ ซามูไร ยามาดะ ต้องรบออกหน้าข้าศึกอยู่ตลอดเวลาจนบาดเจ็บ แต่แล้วก็มาเสียชีวิตด้วยยาพิษของพระเจ้าปราสาททอง
จีงขอให้ผู้อ่านมอง ซามูไร ยามาดาอย่างเป็นกลางมากที่สุดเพื่อที่จะได้เข้าใจและให้อภัยกับบางสิ่งที่ซามูไร ยามาดะได้กระทำไป
ข้าพเจ้า ข้องใจกับ ซามูไรท่านนี้มานานเนื่องจากเคยพบกับฝรั่งท่านหนึ่งที่กำลังศึกษาต่อปริญญา โทอยูที่ต่างประเทศและลงทุนเดินทางมาที่ประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเก็บภาพถ่ายและรายละเอียดของ ซามูไรท่านผู้นี้ เสียดายที่ในขณะนั้นข้าพเจ้าแทบจะหาข้อมูลเกี่ยวกับชายผู้นี้ในแฟ้มงานของ ข้าพเจ้าไม่ได้เลย จึงได้แต่บอกสถานที่ที่คาดว่าน่าจะสามารถเก็บรายละเอียดให้ไป หลังจากนั้นตนเองก็เพิ่งนึกได้ว่าจะมัวมานั่งสงสัยทำไมเล่า จึงได้เดินทางด้วยตนเองไปยังสวนสมเด็จศรีนครินทร์ (ทุ่งท่าลาด) โดยได้ตรงเข้าไปที่ Japanese Garden สวนญี่ปุ่น และก็ได้เห็นแผ่นป้ายแท่งหินขนาดใหญ่สลักว่า เป็นอนุสรณ์ระลึกถึง เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ยามาดะ นามากาซา พร้อมรายละเอียดนิดหน่อย และได้มองเห็นรูปแบบการจัดสวน มีเจ้าหน้าที่จากกองทุนญี่ปุ่นมาปลูกต้นไม้ให้โดยรอบ โดยทางเราก็ได้มีการปักชื่อเพื่อเป็นการให้เกียรติด้วย ก็ให้รู้สึกปลื้มใจว่าอย่างน้อยประเทศญี่ปุ่นเขาก็คงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ อย่างน้อยคนไทย ในเมืองนครศรีธรรมราชยังคงระลึกถึงคนเชื้อสายญี่ปุ่นท่านผู้นี้อยู่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าได้ไปศึกษาหาอ่านประวัติของท่านผู้นี้มาเล่าสู่ กันฟัง และหวังว่าหลายคนคงสนุกและได้รับแง่คิดอะไรหลายอย่างจากประวัติของซามูไรผู้ นี้ไม่มากก็น้อย
" เกี่ยวกับอนุสรณ์สถานออกญาเสนาภิมุข ยามาดา นางามาซะ กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของประเทศสยาม ตั้งแต่ปี 1350-1767 รวม 417 ปี กล่าวกันว่าได้มีชาวญี่ปุ่นมากที่สุดจำนวน 3,000 คน เข้ามาทำการค้าโดยผ่านทางเรือสำเภา และอาศัยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น ออกญาเสนาภิมุข ยามาดะ นางามาซะ มีถิ่นกำเนินที่เมืองซึรุกะ ปัจจุบันคือจังหวัดชิซิโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้นำหมู่บ้านที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในช่วงนั้น ได้เดินทางมาเมืองลิกอร์ ปัจจุบันคือจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะผู้นำทางด้าน การทหารสุดท้ายทราบว่าท่านเสียชีวิตที่นี้ เมื่อปี 1630 เกี่ยวกับออกญาเสนาภิมุข ยามาดะ นางามาซะ ได้มีเรื่องเล่าเขียนไว้มากมาย และเพื่อ เป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์แห่งมิตรภาพที่อบอุ่นระหว่างประเทศไทย กับประเทศญี่ปุ่น จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้น อนุสรณ์สถาน แห่งนี้จะเป็นการต้อนรับศตวรรษใหม่ ในการสร้างมิตรภาพและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศและประสงค์ให้ชาวญี่ปุ่นทราบโดยทั่วกัน"
ที่มา สมาคมไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง
No comments:
Post a Comment