Can't find it? here! find it

Saturday, June 20, 2009

History of Japan

ยุคโบราณ

ยุคหิน

จากการค้นคว้าทางโบราณคดีพบว่ามีผู้อาศัยอยู่บนหมู่เกาะญี่ปุ่นกว่า 100,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินทวีปเอเชีย คนโบราณที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะญี่ปุ่นในยุคหินได้ หาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ และเก็บของป่ามาเป็นอาหาร อีกทั้งเมื่อประมาณ 30,000 กว่าปีก่อนได้มีวัฒนธรรมการทำหินเป็นมีดและการประดิษฐ์อาวุธเช่นหอกเข้ามา จากภาคพื้นทวีปมาสู่ดินแดนญี่ปุ่น ยุคนี้ยังคงดำรงเรื่อยมากระทั่งสิ้นสุดยุคน้ำแข็งสุดท้ายที่ ได้สิ้นสุดลงในช่วงประมาณ 12,000 - 11,000 ปี ซึ่งทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ดินแดนญี่ปุ่นเว้นแต่หมู่เกาะทางตะวันตกเฉียงใต้จึงสิ้นสุดยุคหินข้าสู่ยุค โจมง

ยุคโจมง

ต่อมาในยุคโจมง (縄文時代, โจมงจิได) ในช่วงประมาณ 10,000 ปีที่แล้วก็ได้มีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินด้วยความประณีต มีการพัฒนาวิธีการล่าสัตว์โดยใช้คันธนูและลูกธนู ตลอดจนมีการผลิตภาชนะเครื่องปั้นดินเผาใส่อาหารและเก็บรักษาอาหาร ยุคประมาณ 14,000 ปี ถึง 300 ปี ก่อนคริสต์ศักราชเรียกว่า สมัยโจมง ตามรูปแบบเครื่องปั้นดินเผาโจมงที่มีลวดลายเป็นเชือก

ยุคยะโยอิ

กระจกสัมฤทธิ์ หนึ่งในวัตถุโบราณของยุคยะโยอิ

ต่อมาเมื่อประมาณ 500 ถึง 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 3 ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคยะโยอิ (弥生時代, ยะโยะอิจิได) คำว่ายะโยอินั้นได้มาจากแขวงหนึ่งในเขตบุงเกียว กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่แรกที่ค้นพบร่องรอยเกี่ยวกับยุคนี้

ช่วงต้นของยุคยะโยอิปรากฏให้เห็นถึงการที่ได้เรียนรู้ถึงการเกษตร เช่นการปลูกข้าว การทำเครื่องใช้โลหะ และการเคารพบูชาภูติผีปีศาจซึ่งเป็นัวฒนธรรมที่เข้ามาทางเกาหลีและแผ่นดิน ใหญ่ [1] ชาวญี่ปุ่นใช้เครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยเหล็กที่ใช้ในการเพาะปลูกในชีวิต ประจำวัน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และใช้ดาบที่ทำด้วยทองแดงและกระจกในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การจัดแบ่งงานทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ปกครองดินแดนและผู้อยู่ใต้การปกครอง กว้างขึ้น ในช่วงนี้รัฐเล็กๆ จำนวนมากจึงได้ก่อตัวขึ้นทั่วประเทศ

การกล่าวถึงญี่ปุ่นครั้งแรกปรากฏขึ้นในบันทึกของราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น โฮ่วฮั่นชู (จีนตัวเต็ม: 後漢書; จีนตัวย่อ: 后汉书) ในปี 57 ก่อนคริสตกาล [2] บันทึกได้กล่าวถึงชาววะ (倭) ที่ข้ามทะเลมาส่งบรรดาการนั้นประกอบไปด้วย 100 กว่าเผ่า หนังสือเว่ย (魏書/魏书) ที่เขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ยังได้กล่าวอีกว่าประเทศดังกล่าวเป็นการรวมตัวของรัฐเล็กๆ กว่า 30 รัฐ ที่มีผู้ปกครองเป็นสตรีชื่อว่าฮิมิโกะแห่งยะมะไทโคะกุ (邪馬台国の卑弥呼)

แหล่งโยะชิโนะงะริ (吉野ヶ里遺跡) เป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ของยุคยะโยอิที่ตั้งอยู่บนเกาะคิวชู การขุดค้นปรากฏให้เห็นถึงส่วนที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกสร้างขึ้นในช่วง 400 ปีก่อน ค.ศ. วัตถุส่วนมากที่ขุดค้นพบนั้นเป็นวัตถุที่ทำจากโลหะสัมฤทธิ์ รวมทั้งสิ่งที่นำเข้ามาจากจีนเลว

ยุคกลาง

ยุคโคะฟุง

ราวปี พ.ศ. 793 (ค.ศ. 250) เรื่อยมาจนถึงการเข้ามาของศาสนาพุทธ กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 7 เรียกว่ายุคโคะฟุง (古墳時代, โคะฮุงจิได) ตั้งชื่อตามสุสานที่นิยมสร้างขึ้นกันในยุคดังกล่าวทั่วประเทศ รัฐเล็กๆ เหล่านั้นค่อยๆ รวมตัวกัน และต่อมาไม่นาน ก็มีชาวจีนจำนวนหนึ่งย้ายมาตั้งถิ่นฐานในญี่ปุ่น และนำอารยธรรมแบบจีนมาเผยแผ่ญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นอารยธรรมญี่ปุ่นยังไม่เจริญนัก ทำให้อารยธรรมญี่ปุ่นส่วนมากมีอิทธิพลมาจากจีน และจนถึงปัจจุบันอารยธรรมญี่ปุ่นก็ยังคล้ายคลึงกับจีนอยู่ไม่มากก็น้อย

ในศตวรรษที่ 4 กลุ่มผู้มีความเข้มแข็งทางการเมืองซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ที่ราบยะมะโตะ (ใกล้จังหวัดนาราในปัจจุบัน) ได้มีอำนาจปกครองประเทศตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 จนถึงศตวรรษที่ 6 มีการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมขนานใหญ่ และวัฒนธรรมจีนรวมทั้งลัทธิขงจื๊อและศาสนาพุทธได้เผยแพร่เข้ามาในประเทศ ญี่ปุ่นผ่านทางเกาหลี ถึงปลายศตวรรษที่ 4 ได้มีการติดต่อระหว่างญี่ปุ่นกับอาณาจักรบนคาบสมุทรเกาหลี ศิลป อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การทอผ้า งานโลหะ การฟอกหนัง และการต่อเรือ

ญี่ปุ่นได้รับเอาตัวอักษรแบบจีนซึ่งมีรากฐานมาจากอักษรภาพมาใช้ และโดยผ่านทางสื่อตัวอักษรนี้เอง ชาวญี่ปุ่นได้เรียนความรู้เบื้องต้นทางการแพทย์ การใช้ปฏิทินและดาราศาสตร์ ตลอดจนปรัชญาของลัทธิขงจื๊อ

ยุคอะซึกะ

จิตรกรรมฝาผนังบนสุสานทะกะมะสึซึกะ จังหวัดนะระ เขียนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ยุคอะซึกะ

ยุคอะซึกะ (飛鳥時代, อะซึกะจิได) คือยุคที่ศูนย์กลางของระบอบกษัตริย์ยะมะโตะตั้งอยู่ในอะซึกะ จังหวัดนะระ ดำรงอยู่ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 8 ในปี ค.ศ. 538 เมื่อศาสนาพุทธได้เข้ามาในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกจากประเทศอินเดียโดยผ่านทาง จีนและเกาหลี ผู้ปกครองประเทศญี่ปุ่นได้ถือระบบการปกครองของจีนเป็นแนวทางในการสร้างระบบ การปกครองของตน

ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 6 ราชวงศ์สุยของจีนได้ทำการรวมประเทศใหม่อีกครั้งในรอบ 400 ปี เจ้าชายโชโตะกุ ผู้สำเร็จราชกาลแทนจักรพรรดินีซุยโกะจึงทรงส่งคณะราชทูต "เคนซุยชิ" ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน แล้วด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงได้รับนวัตกรรมใหม่ๆ จากแผ่นดินใหญ่มาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังทรงตรากฎหมาย 17 มาตรา ที่มีใจความสำคัญเกี่ยวกับการจัดระบบของการเมืองการปกครอง และความสงบสุขในบ้านเมืองอีกด้วย และเพื่อให้พุทธศาสนาเฟื่องฟูในญี่ปุ่น พระองค์ยังทรงมีพระดำริให้สร้าง วัดโฮริว วัดไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

ยุคนะระ

หลวงพ่อโตวัดโทได สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดิโชมุ

ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคนะระในปี พ.ศ. 1253 (ค.ศ. 710) เมื่อเมืองหลวงถาวรแห่งแรกของญี่ปุ่น เฮโจเกียวได้รับการสถาปนาขึ้นโดยสร้างตามแบบเมืองฉางอาน (เมืองซีอานใน ปัจจุบัน) เมืองหลวงของจีนในขณะนั้น มีราชวงศ์ของญี่ปุ่นเป็นผู้ปกครอง ราชวงศ์ญี่ปุ่นประทับอยู่ที่เมืองนะระโดยตลอดและขยายอำนาจไปทั่วประเทศทีละ น้อยจนรวมประเทศเป็นปึกแผ่นได้ (ยกเว้นโอะกินะวะ และฮอกไกโด) หากแต่ว่าระบอบการปกครองในยุคนี้ใช้ตามแนวคิดแบบจีน ซึ่งเมื่อมาใช้กับญี่ปุ่นแล้ว ไม่เหมาะสมนัก และเกิดผลกระทบจากความไม่เหมาะสมนั้น และเกิดเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ ผลสุดท้ายคือ ต้องขึ้นภาษีประชาชนอย่างหนัก ทำให้เฮโจเกียวเป็นเมืองหลวงได้ไม่นานนัก และเพื่อหนีอิทธิพลของพระในศาสนาพุทธที่มีอำนาจมาก เมืองหลวงเฮโจวเกียวจึงถูกย้ายไปยังนะงะโอะกะเกียวในปี พ.ศ. 1327 (ค.ศ. 784) และต่อมาที่เฮอังเกียวในปี พ.ศ. 1337 (ค.ศ. 794)

ทางด้านวัฒนธรรม การแต่งตัว สถาปัตยกรรม ฯลฯ ยังปรากฏให้เห็นวัฒนธรรมที่ยังคงแบบจีนอยู่ อาจจะมีความแตกต่างกันนิดหน่อยในรายระเอียดย่อยๆ เช่นบันทึกที่เขียนเป็นตัวอักษรจีนแต่อ่านเป็นภาษาญี่ปุ่น โคะจิกิ (古事記, บันทึกทางประวัติศาสตร์) นิฮงโชะกิ (日本書紀, บันทึกทางประวัติศาสตร์) มังโยชู (万葉集, บันทึกเกี่ยวกับวรรณกรรม) ฟูโดะกิ (風土記, บันทึกเกี่ยวกับภูมิอากาศ) อิทธิพลดังกล่าวน่าจะมากจากการที่ราชสำนักญี่ปุ่นได้ส่งคณะราชทูตสู่ราชวงศ์ถังของจีน "เคนโตชิ" (遣唐使) ไปสู่แผ่นดินใหญ่เป็นจำนวนมากเพื่อรับวัฒนธรรม และสิ่งของต่างๆ จากเส้นทางสายไหม เช่นถ้วยแก้วจากยุโรปตะวันออกกลับ มาสู่ญี่ปุ่นอีกด้วย ตามบันทึกของวรรณคดีประวัติศาสตร์ทั้ง 2 ฉบับนั้น ได้กล่าวถึงการสถานปนาประเทศญี่ปุ่นไว้ว่า ประเทศญี่ปุ่นได้ถูกสถาปนาขึ้นในปี 660 ปีก่อนคริสตกาล โดยจักรพรรดิจิมมุ ผู้เป็นเชื้อสายโดยตรงของเทพเจ้าอะมาเตระสุ เรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ไม่มีใครทราบแน่นอน แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าบางส่วนของบันทึกดังกล่าวเป็นเรื่องจริง แต่จักรพรรดิที่มีพระองค์จริงพระองค์แรกคือจักรพรรดิโอจิง จักรพรรดิลำดับที่ 15 และพระราชสันตติวงศ์ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และหลังจากยุคนะระเป็นต้นมา อำนาจในการบริหารประเทศโดยตรงได้เริ่มออกห่างออกจากราชสำนักญี่ปุ่น มาสู่ขุนนางในราชสำนัก โชกุน ทหาร และนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันในที่สุด

ยุคเฮอัง

วัดเบียวโดอิง
มุระซะกิ ชิกิบุ สาวใช้ชาววัง ผู้เขียน เรื่องเล่าเกนจิ วรรณคดีที่แสดงถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ในยุคเฮอังได้อย่างชัดเจน

ญี่ปุ่นได้สร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นพร้อมๆ กับการล่มสลายของนะระ โดยยุคถัดมาคือ ยุคเฮอัง (平安時代, เฮอังจิได) เมื่อเมืองหลวงใหม่ซึ่งเลียนแบบเมืองหลวงของประเทศจีน "เฮอังเกียว" ได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 1337 (ค.ศ. 794) การย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองเฮอังเกียว นับเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยเฮอันซึ่งดำรงอยู่ยาวนาน รุ่งเรือง และยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยหนึ่งของการพัฒนาการในประเทศญี่ปุ่น การติดต่อกับประเทศจีนหยุดชะงักลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 9 และอารยธรรมญี่ปุ่นเริ่มที่จะมีลักษณะและรูปแบบเป็นของตนเอง

สิ่งเหล่านี้นับเป็นกระบวนการของการผสมกลมกลืนและการปรับเปลี่ยน โดยที่สิ่งต่างๆ ซึ่งญี่ปุ่นรับมาจากภายนอกค่อยๆ กลายเป็นรูปแบบของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย ตัวอย่างที่เห็นได้โดยทั่วไปของกระบวนการนี้ คือการพัฒนาของตัวอักษรญี่ปุ่นในสมัยเฮอัน ความซับซ้อนของการเขียนของจีนทำให้นักเขียนและพระคิดค้นรูปพยางค์ขึ้นสอง ระบบโดยยึดรูปแบบอย่างของจีน ภายในกลางสมัยเฮอัน ได้มีการปรับปรุงพยัญชนะที่เรียกกันว่า ฮิระงะนะ และคะตะคะนะ และนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่นการนำมาเขียนในวรรณคดีเรื่องนิทานเกนจิ (源氏物語) นับเป็นการเปิดทางให้แก่งานเขียนที่มีรูปแบบเป็นของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายแทนถ้อยคำสำนวนที่ยืมมาจากภาษาจีน

ชีวิตในเมืองหลวงเป็นชีวิตที่หรูหราและสะดวกสบาย ขณะที่ราชสำนักใช้เวลาทั้งหมดไปกับศิลปะและความสุขทางสังคม อำนาจที่เคยมีเหนือกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการทหารในหัวเมืองต่างๆจึงเริ่มจะ คลอนแคลน อำนาจในการควบคุมอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพได้หลุดมือไป ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 อำนาจการปกครองบ้านเมืองได้หลุดไปอยู่ในมือของตระกูลฟุจิวะระ และได้กลายเป็นสิ่งล่อใจสำหรับตระกูลนักรบที่เป็นปรปักษ์ต่อกันในช่วงปลาย ยุค ได้แก่ ตระกูลมินะโมะโตะ และไทระ ซึ่งเป็นตระกูลที่สืบทอดเชื้อสายมาจากจักรพรรดิองค์ก่อนๆ ทั้งสองตระกูล ตระกูลมินะโมะโตะและไทระได้ต่อสู้ในการรบที่โด่งดังที่สุด และมีความรุนแรงมากในยุคกลางอันวุ่นวายสับสนของญี่ปุ่น ในที่สุดตระกูลมินะโมะโตะเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยได้ทำลายล้างตระกูลไทระจนพินาศในศึกดันโนะอุระ (Battle of Dannoura) อันเกริกก้องและเลื่องลือในปี พ.ศ. 1728 (ค.ศ. 1185) ซึ่งเป็นจุดจบของยุคเฮอัง

เมืองหลวงเฮอังเกียว หรือเกียวโตะยังคงมีฐานะเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นมาอีกกว่า 600 ปี กระทั่งสิ้นสุดยุคเอะโดะในปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) และย้ายเมืองหลวงมาที่โตเกียวในอีก 2 ปีต่อมา

ยุคคะมะกุระ

ชัยชนะของตระกูลมินะโมะโตะแสดงถึงความเสื่อมของบัลลังก์อำนาจทางการเมือง ของจักรพรรดิอย่างแท้จริง และเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองโดยระบอบศักดินา ยุคกลางของญี่ปุ่น ภายใต้การปกครองของโชกุน หรือผู้ปกครองทางการทหารที่สืบต่อกันมาอีก 700 ปี

ถัดจากยุคเฮอัง คือ ยุคคะมะกุระ (鎌倉時代, คะมะกุระจิได) เริ่มต้นในปี พ.ศ. 1728 (ค.ศ. 1185) ต่อมาในปี พ.ศ. 1735 (ค.ศ. 1192) โยะริโตะโมะ หัวหน้าตระกูลมินะโมะโตะที่เป็นผู้ชนะสงครามได้สถาปนาระบบโชกุน หรือรัฐบาลทหารขึ้น ที่เมืองคะมะกุระใกล้กับนครหลวงโตเกียวในปัจจุบัน และยึดอำนาจบริหารบางประการที่เคยเป็นอำนาจของจักรพรรดิในกรุงเกียวโตะ เพื่อต้านสิ่งที่ถือว่าเป็นความเสื่อมของเกียวโตะที่ได้ฝักใฝ่ในสันติภาพ โชกุนที่เมืองคะมะกุระได้สนับสนุนความมัธยัสถ์อดออมและศิลปะการต่อสู้ ป้องกันตัว ตลอดจนความมีระเบียบวินัยซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะฟื้นฟูอำนาจการควบคุมทั่ว ทั้งแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพกลับคืนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการทหารในจังหวัดที่อยู่ไกล ออกไป สมัยคะมะกุระ ซึ่งเป็นชื่อเรียกยุคของระบบโชกุนของโยริโตะโมะเป็นยุคที่มีแนวคิดในเรื่อง ของความกล้าหาญและรักเกียรติยศ (bushido) ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของซามูไร

ในปี พ.ศ. 1761 (ค.ศ. 1213) อำนาจที่แท้จริงได้เปลี่ยนมือจากตระกูลมินาโมะโตะไปยังตระกูลโฮโจ ซึ่งเป็นตระกูลทางภรรยาของโยะริโมะโตะโดยเป็นผู้สำเร็จราชการให้โชกุน ตระกูลโฮโจค้ำจุนรัฐบาลที่เมืองคะมะกุระไว้ได้จนถึง พ.ศ. 1876 (ค.ศ. 1333) ในระหว่างนั้นกองทัพมองโกลได้บุกตอนเหนือของเกาะคิวชูถึง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 1817 (ค.ศ. 1274) และ พ.ศ. 1824 (ค.ศ. 1281) ถึงแม้ว่าจะมีอาวุธที่ด้อยกว่าแต่นักรบญี่ปุ่นก็สามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้ และป้องกันไม่ให้ผู้รุกรานบุกลึกเข้าไปตอนในของประเทศ หลังจากที่กองทัพเรือส่วนใหญ่ของชนเผ่ามองโกลประสบความเสียหายอย่างหนักจาก พายุไต้ฝุ่นที่ญี่ปุ่นเรียกว่า "คะมิคะเซ่" ในการบุกญี่ปุ่นทั้งสองครั้ง กองทัพมองโกลจึงได้ถอยทัพไปจากญี่ปุ่น และอำนาจของค่ายทหารคะมะกุระก็หมดลงในปีเดียวกันนั้นเอง

ยุคมุโระมะจิ

ถัดจากยุคคะมะกุระ ก็เข้าสู่ยุคการฟื้นฟูอำนาจการปกครองโดยจักรพรรดิในช่วงสั้นๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 1876 จนถึง พ.ศ. 1879 แล้วต่อมาก็เข้าสู่ ยุคมุโระมะจิ (室町時代, มุโระมะจิจิได) ตระกูลอะชิคะงะได้ขึ้นเป็นตระกูลโชกุน โดยมีโชกุนพระองค์แรกคืออะชิคะงะ ทะกะอุจิ มี บะกุฮุ (幕府) หรือค่ายทหารอยู่ที่มุโระมะจิในกรุงเกียวโต ยุคนี้มีการพัฒนาระบบชลประทาน การเพาะปลูก และเกิดการเติบโตของกิจการค้าขายและบริการ ในยุคนี้ระเบียบวินัยที่เคร่งครัดของลัทธิบุชิโดแสดง ให้ปรากฏทั้งในด้านความงามทางศิลปะและศาสนา และมีอิทธิพลลึกล้ำต่อศิลปะของประเทศ ลักษณะเด่นซึ่งคงอยู่แม้ในปัจจุบันนี้คือลักษณะของความอดกลั้น และความเรียบง่าย ยุคนี้ยังเป็นยุคแรกที่ชาวตะวันตกกลุ่มแรก ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาสู่ญี่ปุ่นในปี

แต่ในปี พ.ศ. 1984 (ค.ศ. 1441) เกิดการลอบสังหารโชกุนขึ้น ทำให้การปกครองระบอบโชกุนเสื่อมถอยลง และเกิดเป็นสงครามกลางเมื่องขึ้นในปี พ.ศ. 2019 (ค.ศ. 1476) สงครามดำเนินมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปี จนญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคย่อยๆ เรียกว่ายุคเซงโงะกุที่มีความหมายว่ายุคสงครามกลางเมือง ในปี พ.ศ. 2111 โนะบุนะงะ โอะดะ ซึ่งอยู่ในสถานะเจ้าเมืองได้เป็นใหญ่ในบริเวณตอนกลางของเกาะฮอนชูและ ต้องการรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น ในปีเดียวกันนั้นเขาจึงเริ่มกำจัดอิทธิพลอำนาจของมุโระมะจิ และสร้างอารยธรรมอะซุจิโมโมะยะมะขึ้นมาแทน ในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นคงแก่ตนด้วย ในปี พ.ศ. 2116 อารยธรรมมุโระมะจิหายไป อารยธรรมอะซุจิโมโมะยะมะขึ้นมาแทนที่ ดังนั้นช่วง พ.ศ. 2111 - 2116 จึงเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงอารยธรรมในปฏิทินเหตุการณ์ญี่ปุ่น พ.ศ. 2086 (ค.ศ. 1543)

ยุคอะซุจิโมโมะยะมะ

ญี่ปุ่นเข้าสู่ ยุคอะซุจิโมโมะยะมะ (安土桃山時代, อะซุจิโมะโมะยะมะจิได) ในปี พ.ศ. 2116 (ค.ศ. 1573) เป็นยุคสั้นๆ ที่มีผู้สถาปนาคือ โอะดะ โนะบุนะงะ เขามีเจตนารมณ์ที่จะรวมประเทศญี่ปุ่นที่ยังไม่เป็นปึกแผ่นให้อยู่ในผู้นำ เพียงคนเดียว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่วัดฮนโนในปี พ.ศ. 2125 (ค.ศ. 1582) โนะบุนะงะเสียชีวิต โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ นายพลนายหนึ่งของเขาจึงได้เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อมา และสามารถรวบรวบประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2133 (ค.ศ. 1590) [3]

ยุคนี้เป็นยุคที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เซรามิก ภาพวาด เครื่องเงิน อุปกรณ์เกี่ยวกับชา ฯลฯ ซึ่งทำให้นับได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่หรูหราที่สุดยุคหนึ่งของญี่ปุ่น วัฒนธรรมใหม่ๆ จากตะวันตก เช่นการใช้ปืนคาบศิลา การสอนคริสต์ศาสนาก็ได้เจริญรุ่งเรืองในยุคนี้ด้วย

แต่ได้ไม่นาน สุขภาพที่ไม่ดี และอำนาจต่างๆ ในตัวฮิเดะโยะชิได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการยกทัพบุกเกาหลีที่ ไม่ประสบความสำเร็จ และปัญหารอบตัวที่รอบล้อมตัวเขาอยู่ เจ้าเมือง 5 เมืองจึงตั้งตนเป็นใหญ่และสงครามแย่งชิงอำนาจกันอีกครั้ง การรบสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 1600) โดยเจ้าเมือง โทะกุงะวะ อิเอะยะสึ

ยุคเอะโดะ

อิเอะยะสึตั้งตนเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นทั้งประเทศที่มีอำนาจอย่างแท้จริง โดยขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนที่เมืองเอโดะ ล้มล้างอารยธรรมโมโมะยะมะ และสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้น ทำให้ยุคอะซุจิโมโมะยะมะจบลงใน ค.ศ. 1603 และปีเดียวกันนั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ ยุคเอะโดะ (江戸時代, เอะโดะจิได) ซึ่งเป็นจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น โชกุนอิเอะยะสึได้สร้างแบบแผนแทบจะทุกแง่มุมของวิถีชีวิตของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทางการเมืองและสังคมให้เป็นแบบอย่างต่อมาอีก 265 ปี

การที่โชกุนโทะกุงะวะดำเนินการปิดประเทศจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2182 (ค.ศ. 1639) นับเป็นวิธีหนึ่งที่จะรักษาเสถียรภาพของโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่อิ เอะยะสึได้ก่อตั้งขึ้น ชาวตะวันตกกลุ่มแรกได้เดินทางมาถึงชายฝั่งญี่ปุ่นในศตวรรษก่อนคือในสมัยมุโร มาจิ พ่อค้าชาวโปรตุเกสขึ้นบกที่เกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2086 (ค.ศ. 1543) โดยได้นำอาวุธปืนเข้าในประเทศญี่ปุ่น อีกไม่กี่ปีต่อมาคณะผู้สอนศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนำโดยนักบุญ ฟรานซิสโก ซาเวียร์ ตลอดจนชาวสเปนอีกหลายกลุ่มได้เดินทางเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น กลุ่มพ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ และอังกฤษก็ได้เข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

การหลั่งไหลเข้ามาของชาวยุโรปมีผลกระทบต่อญี่ปุ่นอย่างมาก คณะผู้สอนศาสนาทำให้ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนศาสนากันมาก โดยเฉพาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โชกุนตระหนักดีว่าศาสนาคริสต์อาจจะมีอานุภาพในการทำลายทัดเทียมกับอาวุธปืน ที่เข้ามาในญี่ปุ่น ในที่สุดได้มีการสั่งห้ามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น และโชกุนโทะกุงะวะได้ออกคำสั่งห้ามชาวต่างชาติทุกคนเข้าประเทศญี่ปุ่น ยกเว้นกลุ่มพ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ถูกจำกัดบริเวณอยู่ที่เกาะเดะจิมะที่อ่าวนะงะซะกิ ตลอดจนชาวจีนจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่นะงะซะกิ และทูตจากราชวงศ์ลีของ ประเทศเกาหลีที่เดินทางมาญี่ปุ่นเป็นครั้งคราว เป็นเวลา 250 ปีที่ญี่ปุ่นได้ติดต่อกับโลกภายนอกผ่านกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น นักวิชาการญี่ปุ่นได้รับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการแพทย์ตะวันตกและวิทยา ศาสตร์แขนงอื่นๆ โดยผ่านทางกลุ่มพ่อค้าที่เมืองเดะจิมะในระหว่างระยะเวลาแห่งการแยกตัวอยู่ อย่างโดดเดี่ยวอันยาวนานของประเทศ

หนังสือเกี่ยวกับกายวิภาคเล่มแรกๆ ของญี่ปุ่น แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2317 (ค.ศ. 1774)
การศึกษาในเทะระโกะยะ

ประชากรทั้งหมดแบ่งออกเป็น 4 ระดับ เรียกกันว่า "มิบุงเซ" (身分制) ประกอบด้วย:

  1. นักรบ (武士, บุชิ) หรือ ซามูไร (ประมาณร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด)
  2. ชาวไร่ชาวนา (農民 , โนมิง, ประมาณร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด)
  3. ช่างฝีมือ (職人, โชะกุนิง)
  4. พ่อค้า (商人, โชนิง)

สำหรับช่างฝีมือและพ่อค้านั้นบางครั้งจะเรียกรวมกันว่า ชาวเมือง (町人, โจนิง) และอยู่ใต้การปกครองของเหล่านักรบ มีเพียงชาวนาเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในชนบท ที่เหลืออีกสามชนชั้นจะอาศัยอยู่ในเมืองซึ่งสร้างอยู่รายรอบปราสาทของไดเมียวในแต่ละท้องถิ่น

ความสงบสุขจากการปิดประเทศเป็นเวลานานทำให้ชนที่อยู่ใต้อำนาจปกครองอย่าง เช่นชาวเมืองได้มีโอกาสที่จะประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ใหม่ๆ ขึ้นมาไปเป็นทางของตนเอง มีการแสดงคะบุกิเกิด ขึ้นตามเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีการวาดภาพอุกิโยะที่แสดงถึงชีวิตประจำวันของชาวเมืองและชาวนา ซึ่งแตกต่างจากภาพที่ชนชั้นปกครองเขียนอย่างชัดเจน พอมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้เกิดความนิยมในการเรียนวิทยาการใหม่ๆ เช่น แพทยศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ชาวนาเองที่มีหน้าที่ทำนายังต้องมาศึกษาวิทยาการเหล่านี้เพื่อคิดคำนวณผล กำไรที่ตนเองได้ การศึกษาที่เสมือนกับการเรียนพิเศษที่เรียกว่า เทระโกะยะ (寺子屋) จึงได้รับความนิยมอย่างมาก

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้ความกดดันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เปิดประเทศสู่โลกภายนอก อีกทั้งโครงสร้างทางสังคมและการเมืองอันเข้มงวดที่อิเอะยะสึเป็นผู้กำหนด ขึ้นภายในประเทศญี่ปุ่น ก็เริ่มที่จะทำให้เกิดความตึงเครียดอันเนื่องมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ในปี พ.ศ. 2396 (ค.ศ. 1853) พลเรือจัตวา แมทธิว ซี เพอร์รี แห่งสหรัฐอเมริกา นำกองเรือ 4 ลำเข้ามาในอ่าวโตเกียว พลเรือจัตวาแมทธิวกลับมาอีกครั้งในปีถัดมา และประสบความสำเร็จในการชักจูงให้ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีกับประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง ญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญาทำนองเดียวกันกับประเทศรัสเซีย อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ดังนั้นจึงเป็นการเปิดประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง สี่ปีต่อมาสนธิสัญญาเหล่านี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสนธิสัญญาทางการค้า และญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญาทำนองเดียวกันนี้กับประเทศฝรั่งเศสด้วย

ผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้ เพิ่มความกดดันแห่งกระแสทางสังคมและการเมือง ซึ่งกัดกร่อนรากฐานของโครงสร้างระบบศักดินาทีละน้อย ความวุ่นวายครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นกินเวลาประมาณทศวรรษ จนกระทั่งระบบศักดินาของโชกุนโตกุงาวะได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) และได้ถวายอำนาจอธิปไตยทั้งมวลคืนพระจักรพรรดิในการปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration) ในปีต่อมา

ยุคใหม่

ยุคเมจิ

การปฏิรูปเมจิ ทำให้ยุคเอะโดะสิ้นสุดใน พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) และปีเดียวกันนั้นนับเป็นการเริ่มต้นของยุคเมจิ เป็นสมัยที่เด่นที่สุดสมัยหนึ่งในบรรดาประวัติศาสตร์ของประเทศ ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ญี่ปุ่นได้บรรลุความสำเร็จในการพัฒนาประเทศโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ กล่าวคือการสร้างสรรค์ประเทศให้เข้าสู่ยุคใหม่ด้วยอุตสาหกรรม พัฒนาสถาบันทางการเมืองและรูปแบบของสังคมแบบใหม่ ทั้งที่ประเทศตะวันตกต้องใช้เวลาพัฒนานานนับศตวรรษ

ในช่วงปีแรกๆ ของการครองราชย์ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทางย้ายเมืองหลวงจากกรุงเกียวโตไปอยู่ที่เมืองเอโดะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลระบบศักดินาที่ผ่านมา และได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็นโตเกียว ซึ่งแปลว่า "เมืองหลวงตะวันออก" มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตลอดจนตั้งคณะรัฐมนตรี และสถาบันนิติบัญญัติระบบสองสภา ยกเลิกการแบ่งชนชั้นแบบเก่าของสมัยศักดินา ญี่ปุ่นทั้งประเทศทุ่มเทพลังงานและความกระตือรือร้นในการศึกษาและรับ อารยธรรมตะวันตกมาใช้

การปฏิรูปเมจิเหมือนกับการทลายของเขื่อนที่กอปรด้วยพลังและแรงผลักดัน สะสมมานับศตวรรษ ต่างชาติเองรู้สึกถึงความรุนแรงและความตื่นตัวที่เกิดจากการปลดปล่อยพลัง เหล่านี้ออกมาในฉับพลัน ก่อนจะสิ้นศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี ค.ศ. 1894-95 ซึ่งลงเอยด้วยชัยชนะของญี่ปุ่น ผลของสงครามคือญี่ปุ่นได้ไต้หวันมาจากจีน สิบปีต่อมาญี่ปุ่นประสบชัยชนะอีกครั้งหนึ่งในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ระหว่างปี ค.ศ. 1904-05 และยึดได้ซัคคาลินตอนใต้ ซึ่งยกให้รัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1875 เพื่อแลกกับเกาะคูริล และทำให้ชาวโลกรับรู้ว่าญี่ปุ่นมีความสนใจในดินแดนแมนจูเรียเป็นพิเศษ หลังจากที่ได้กำจัดอำนาจอื่นๆ ที่จะมามีอิทธิพลเหนือเกาหลีแล้ว ในตอนแรกญี่ปุ่นได้จัดการให้เกาหลีเป็นดินแดนในอารักขา และผนวกเกาหลีในเวลาต่อมาคือในปี ค.ศ. 1910

สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงปกครองประเทศด้วยความเข้าใจถ่องแท้และสร้าง สรรค์ ซึ่งการปกครองของพระองค์ช่วยนำประเทศให้ผ่านพ้นช่วงทศวรรษแห่งการเปลี่ยน แปลง พระองค์เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1912 ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามโลกครั้งนี้สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก เพราะญี่ปุ่นได้เข้าร่วมสงครามโลกเนื่องจากได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับประเทศ อังกฤษไว้เมื่อปี ค.ศ. 1902 และสมเด็จพระจักรพรรดิไทโช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ใน ค.ศ. 1912 ทำให้ปี 1912 นับเป็นปีสิ้นสุดของยุคเมจิ และเป็นจุดเริ่มต้นของ ยุคไทโช และจักรพรรดิไทโชเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1926 และสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิไทโช ซึ่งทำให้ปี 1926 เป็นจุดสิ้นสุดสมัยไทโช และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคโชวะ

ยุคไทโช และโชวะ

สมัยโชวะได้เริ่มต้นด้วยบรรยากาศแห่งความหวัง อุตสาหกรรมของประเทศยังคงเจริญเติบโตต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง และดูเหมือนว่าการเมืองของญี่ปุ่นหยั่งรากลึกด้วยการปกครองระบบสภา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเริ่มที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่มั่นคง ความเชื่อมั่นในพรรคการเมืองของประชาชนได้ลดน้อยลงหลังจากมีการเปิดโปง เรื่องอื้อฉาวหลายเรื่อง พวกหัวรุนแรงใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ในช่วงนี้ และกลุ่มทหารฉวยโอกาสที่เปิดให้พวกตนในช่วงเวลาอันสับสนวุ่นวาย อิทธิพลของพรรคการเมืองค่อยๆ ลดน้อยลง หลังจากเหตุการณ์ลูกั๋วเฉียว (Lugouqiao Incident) ซึ่งก่อให้เกิดสงครามกับจีน พรรคการเมืองเหล่านี้ถูกบีบให้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความร่วมมือใน ยามสงคราม และในที่สุดได้มีการยุบพรรคการเมืองทั้งหมด และตั้งพรรคการเมืองแห่งชาติขึ้นมาแทน เนื่องจากสภาไดเอ็ตถูกลดบทบาทจนไม่ต่างจากตรายางเท่าใดนัก ทำให้ไม่มีการคัดค้านจากทางสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับกระแสเหตุการณ์ทั้งหลาย ที่นำไปสู่การเกิดสงครามแปซิฟิกในปี ค.ศ. 1941

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นซึ่งเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้าจากลงครามโลกครั้งที่สอง ได้ยอมรับข้อตกลงยอมแพ้สงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร และประชาชนได้วางอาวุธตามพระราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดิ เป็นเวลานานกว่า 6 ปี หลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่นตกอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนใหญ่ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้อำนาจของฝ่ายยึดครองซึ่งนำโดย พลเอกดักลาส แม็คอาเธอร์

  1. ห้ามมีกองกำลังป้องกันประเทศและคณะปฏิวัติ เว้นแต่กองกำลังความมั่นคงภายในประเทศ
  2. ญี่ปุ่นต้องชาติแห่งประชาธิปไตยเท่านั้นถ้าไม่พอใจผู้นำคนใด ใช้ประชาธิปไตยในการตัดสิน และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  3. สหประชาชาติและรัฐบาลญี่ปุ่นต้องสนับสนุนญี่ปุ่น ในด้านการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ของญี่ปุ่นและชาติอื่นๆ ยูเนสโก และรัฐบาลญี่ปุ่นต้องสนับสนุน ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ การสร้างสรรค์และพัฒนาเปลี่ยนในทางที่ดีให้กับญี่ปุ่นให้รวดเร็วทันต่อโลกา ภิวัฒน์ และสนับสนุนอาริยะ
  4. ห้ามชนชาติหรือปถุชนองค์กรใดๆ มาทำการแยกประเทศหรือถือกรรมสิทธิ์ใดๆในญี่ปุ่นเด็ดขาด เว้นแต่ ทางธุรกิจและข้อตกลงในกฎหมายเท่านั้น
  5. ข้าราชการทุกๆกระทรวงในญี่ปุ่นนอกจากได้รับเงินเดือนแล้วยังได้รับ เงินพิเศษ ค่าคอมมิชชั่น และทำธุรกิจอื่นๆได้ ผสานด้วยกฎหมายญี่ป่น

แต่ห้าม สร้างผลกระทบทางด้าน เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ การสร้างสรรค์และพัฒนา ต่อญี่ปุ่นเด็ดขาด

  1. สหประชาชาติต้องคุ้มครองการรุกรานต่างๆให้กับญี่ปุ่น
  2. ขอให้สหประชาชาติจงเป็นพยานให้กับสนธิสัญญาสันติภาพ ซานฟรานซิสโก ณ ครั้งนี้ ให้คงธำรงไว้ตลอด

ในปี ค.ศ. 1951 ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ซานฟรานซิสโก ซึ่งแสดงว่าญี่ปุ่นได้กลับคืนสู่ประชาคมนานาชาติในฐานะที่เป็นรัฐปฏิรูป จากการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ญี่ปุ่นได้สิทธิในการบริหารกิจการต่างประเทศคืนมาหลังจากที่ได้ถูกตัดสิทธิ ไประหว่างการถูกยึดครอง

งานเร่งด่วนที่สุดประการหนึ่งที่จะต้องดำเนินการหลังสงครามโลก ได้แก่ การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ด้วยความสนับสนุนและเห็นอกเห็นใจจากสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆ ญี่ปุ่นได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าเสรีหลายฝ่ายระหว่างประเทศ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดเสรี ของโลกได้เป็นอย่างดี

พร้อมๆ กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ญี่ปุ่นใช้ความพยายามในการปรับปรุงสถานะทางการทูตระหว่างประเทศ เริ่มต้นด้วยเมื่อญี่ปุ่นได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติใน ค.ศ. 1956 ญี่ปุ่นได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมอภิปรายระหว่างประเทศทางด้าน การเมืองตลอดจนเศรษฐกิจและสังคม ในปี ค.ศ. 1960 ได้มีการทบทวนสนธิสัญญาทางด้านความมั่นคงที่ทำไว้กับสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 เพื่อจะได้อำนวยประโยชน์ต่อกันและกันยิ่งขึ้น ญี่ปุ่นได้ชำระเงินค่าปฏิกรรมสงครามจนครบภายในกลางทศวรรษที่ 1960 หลังจากการเจรจาหลายครั้งที่ยืดเยื้อ ญี่ปุ่นได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสาธารรณรัฐเกาหลีในปี ค.ศ. 1965 เพียง 20 ปีหลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่นก็ฟื้นตัวจากความพินาศอันเกิดจากสงครามได้เกือบจะสมบูรณ์ มหกรรมกีฬาโอลิมปิค เมื่อปี ค.ศ. 1964 ที่โตเกียว เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นใหม่ของชาวญี่ปุ่น และบทบาทของประเทศก็เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นมีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศอย่างเห็นได้ชัด พรรคอนุรักษ์นิยมมีเสียงข้างมากในสภาไดเอ็ตเป็นนิจ ยกเว้นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ญี่ปุ่นมีรัฐบาลสังคมนิยมในปี ค.ศ. 1947 และ 1948

หลังจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาใหม่ๆ หลายประเภททั้งภายในและภายนอก เมื่อมีความพอใจในปัจจัยจำเป็นในชีวิตแล้ว ประชาชนเริ่มจะแสวงหาเป้าหมายอื่นๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงคุณภาพชีวิต นักเรียนนิสิตนักศึกษาแสดงความไม่พอใจต่อโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ประชาชนหลายกลุ่มเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และปัญหามลพิษซึ่งเกิดจากการที่ประเทศมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ ประชาชนให้ความสนใจเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีอัตราการเติบโตต่ำ ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ทรุดหนักลงเรื่อยๆ มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตของชาวญี่ปุ่น โดยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และการดำเนินชีวิต ชาวญี่ปุ่นมีค่านิยมที่ต่างกันไปมากขึ้น และชาวญี่ปุ่นจำนวนมากให้ความสำคัญกับการแสดงออกและการแสวงหาเป้าหมายส่วน บุคคล การที่สหรัฐอเมริกาคืนโอกินาวา (เกาะริวกิว และเกาะไดโตะ) ให้ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1972 และการฟื้นสัมพันธไมตรีกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีเดียวกัน จัดว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษที่ 1970 สำหรับบทบาทของญี่ปุ่นในเศรษฐกิจโลก ญี่ปุ่นดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อเปิดตลาดการค้าของตน ในฐานะที่เป็นสมาชิกสำคัญของความตกลงทั่วไปเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากรและการ ค้า (General Agreement on Tariffs and Trade) และองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development) ซึ่งมุ่งที่จะรักษาการค้าเสรี ทำให้ในปัจจุบันญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในด้านการค้า การเงิน และความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกของการประชุมสุดยอดประจำปีระหว่าง 7 ประเทศทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้เคยจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ในปี ค.ศ. 1979 และ 1986

เมื่อพิจารณาถึงกำลังของประเทศ และความคาดหวังของประเทศอื่นๆ ต่อบทบาทระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นนี้ ดังนั้นจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีท่าทีที่แน่ชัดในการขยายความช่วยเหลือแก่ประชาคมโลก

ใน ค.ศ. 1989 จักรพรรดิฮิโระฮิโตะเสด็จสวรรคต จักรพรรดิอะกิฮิโตะ ขึ้นครองราชย์ต่อ ทำให้ปี 1989 นี้ เป็นปีสิ้นสุดของยุคโชวะ และเป็นจุดเริ่มต้นของเฮเซ และญี่ปุ่นก็คงอยู่ในเฮเซจนถึงปัจจุบัน

No comments: