แม้ปัจจุบัน อุทยานแห่งชาติตะรุเตา (หรือบางทีเรียกว่า "ตะรูเตา") จังหวัดสตูล จะได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่จุดขายอีกประการหนึ่งของสถานที่แห่งนี้คือเรื่องราวในอดีตอันเคยเป็นสถาน ที่คุมขังนักโทษที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาตลอด เช่น เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2551) มีนักการเมืองท่านหนึ่งเสนอจะให้จับกุมฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตนไปกักขัง ที่เกาะแห่งนี้เช่นอดีต เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ Paul Adirex หรือคุณปองพล อดิเรกสาร ก็ได้เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "โจรสลัดแห่งตะรุเตา" และย้อนหลังจากนั้นไปอีกจนถึงวันที่ 30 มกราคม 2519 ภาพยนตร์เรื่อง "นรกตะรูเตา" ของรณภพฟิล์มก็ได้ออกฉายต้อนรับตรุษจีนในปีนั้นที่โรงภาพยนตร์เพชรรามาและเพ ชรเอ็มไพร์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์มาจัดจำหน่ายในรูปแบบ DVD โดย ทริปเปิ้ลเอกซ์ฟิล์ม
ลองมาดูความเป็นมาของการใช้เกาะตะรุเตาเป็นที่กักขังนักโทษกันก่อนครับ คำว่า "ตะรุเตา" หรือ "ตะรูเตา" นี้ เพี้ยนมาจากคำในภาษามาเลย์ว่า Pulau Tertua ซึ่งแปลว่า the island of old หรือเกาะอันเก่าแก่โบราณอะไรทำนองนั้น (ในไตเติ้ลภาพยนตร์จะเขียนว่า "ตะรูเตา" แต่ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่จะเขียนว่า "ตะรุเตา" ครับ) เกาะนี้อยู่ในทะเลอันดามันเขตจังหวัดสตูล พิกัด 6 องศา 35 ลิบดาเหนือและ 99 องศา 39 ลิบดาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร ในปี พ.ศ.2479 รัฐบาลได้ให้กรมราชทัณฑ์สำรวจพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมสำหรับกักกันและฝึก อาชีพให้นักโทษ ซึ่งทางกรมฯ ก็ได้เลือกเกาะแห่งนี้ ด้วยเหตุว่าเป็นเกาะใหญ่อยู่กลางทะเลลึก มีคลื่นลมมรสุมรุนแรง มีจระเข้และฉลามชุกชุม เป็นปราการทางธรรมชาติที่สามารถป้องกันการหลบหนีของนักโทษได้อย่างดี นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ชุดแรกจำนวน 500 คน ถูกส่งลงมายังทัณฑสถาเกาะตะรุเตา ในปี พ.ศ.2481 และส่งทยอยลงมาเรื่อยๆ จนเพิ่มขึ้นสูงถึง 3,000 คน ในปีเดียวกัน ปีถัดมาคือพ.ศ.2482 รัฐบาลก็ส่งนักโทษการเมืองมายังเกาะตะรุเตา อีก 70 คน ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดีกบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ โดยแยกนักโทษการเมืองมากักไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง ส่วนนักโทษอื่นคุมขังที่อ่าวตะโละวาว เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2484 สภาพความแร้นแค้นได้ลุกลามไปทั่ว ขนาดในเมืองบนแผ่นดินใหญ่ยังย่ำแย่ แล้วเกาะตะรุเตาจะขนาดไหน ทั้งความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บได้คร่าชีวิตนักโทษไปกว่า 700 คน ผู้คุมและนักโทษบางส่วนก็ผันตัวเองมาเป็นโจรสลัด ออกปล้นสะดมเรือสินค้าที่แล่นผ่านเพื่อยังชีพ และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดทหารอังกฤษจากมาเลเซียจึงอาสารัฐบาลไทย นำทหารจำนวน 300 นาย ยกพลขึ้นบกที่เกาะตะรุเตา เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2489 เข้าปราบปรามโจรสลัดจนราบคาบ และต่อมาในปีพ.ศ.2491 กรมราชทัณฑ์จึงประกาศยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตาไปในที่สุด และได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517
ลองมาดูเรื่องราวในภาพยนตร์กันบ้าง
รถบรรทุกที่ขนนักโทษจากสถานีรถไฟไปท่าเรือ ไม่กลัวนักโทษโดดหนีเลยเหรอ?
ภาพยนตร์เริ่มเรื่องด้วยฉากดำมืดพร้อมกับการบรรยายว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีการกวาดล้างผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลโดยถือว่ากบฎต่อแผ่นดิน โทษประหารหรือส่งไปตายทั้งเป็น อะไรประมาณนี้ ซึ่งฟังดูไม่ค่อยเป็นธรรมกับคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่าไหร่นัก แต่เดี๋ยวผมจะกลับมาวิจารณ์ตรงนี้อีกที จากนั้นมามาที่สถานีรถไฟควนเนียง จังหวัดสตูล รถไฟที่ขนนักโทษการเมืองได้เข้าสู่ชานชาลา ผู้คุมขานชื่อเรียกนักโทษลงจากขบวนรถ อันได้แก่ พระยาสราวุฒิวิจารณ์ พันโทหลวงพิษณุรักษ์เสนา ร้อยเอกสกลสมรรถการ ถวัลย์ ศรีวัฒนา เฉลา ตาทิพย์ ขุนราชกิจกลการ หลวงสรรพจนานุกิจ สิบเอกทวี วัฒนา สิบเอกอัคนี วิโรจน์ ฯลฯ ชื่อเหล่านี้ผมต้องเดาตัวสะกดเอาเองทั้งนั้นนะครับ โดยมีเจ้าหน้าที่ 3 คนที่จะเป็นผู้ร้ายสำคัญตลอดทั้งเรื่อง ได้แก่ จ่าเผื่อน แสง และวอน มารับ ผลจากการที่เบียดเสียดยัดเยียดกันมาในตู้โบกี้ท่ามกลางความร้อน ทำให้นักโทษจำนวน 54 คน ตายไป 10 คน ร่อแร่ 5 คน คงเหลือเพียง 39 คน ขณะที่รถไฟกำลังออกจากสถานี นักโทษนามอัคนีเกิดเพ้อคิดถึงภรรยาที่ใกล้คลอดลูกออกวิ่งตามรถไฟไป คุณจ่าเผื่อนก็เริ่มปฏิบัติหน้าที่ผู้ร้ายด้วยการชักปืนยิงอัคนีทิ้งที่ชาน ชลานั้นเอง ร้อยเอกสกลพยายามจะเข้าไปช่วยอัคนีแต่หลวงพิษณุรักษ์หรือพรายห้ามไว้ก่อน จากนั้นจ่าเผื่อนก็นำนักโทษที่เหลือขึ้นรถบรรทุกเพื่อต่อเรือนำไปเกาะตะรู เตา ระหว่างที่ถูกลำเลียงลงเรือ สกลพยายามใช้มีดเจาะท้องเรือ แต่พรายได้ห้ามไว้อีกจนเป็นปากเสียงกันอยู่พักหนึ่ง จากนั้นนักโทษทั้งหมดก็ขึ้นฝั่งเข้าสู่เรือนกักกันที่เกาะตะรูเตา
ปืนกลบนป้อมคำรามอย่างน่ากลัว แต่ไม่ถูกใครเลย...
คืนแรกที่มาถึง จ่าเผื่อนกับพวกก็สั่งให้ลูกน้องนำขุนชัยชิดซึ่งเป็นกะเทยหรือที่สมัยนี้ เรียกว่าตุ๊ดออกจากที่พัก อ้างว่าไม่ตรวจอาการไม่สบาย แต่ที่แท้ก็เอาไปจัดการ "อัดถั่วดำ" นั่นแหละครับ แต่เอ! สมัยนั้นมีศัพท์สะแลงว่า "ถั่วดำ" หรือยังก็ไม่ทราบ แต่ในเรื่องมีการใช้คำนี้จริงๆ เอาเป็นว่าพอเช้าขึ้นมา ขณะที่บรรดานักโทษกำลังกล้ำกลืนกินข้าวกับแกงกาบกล้วยกับเนื้อเค็มที่ต้อง เสียตังค์ซื้อเพิ่มเติม ขุนชัยชิดกินข้าวไม่ลง เดินปลีกตัวไปที่โขดหินชายหาด ผู้คุมหัวโล้นชื่อนายวอนได้เข้าไปหาและพูดจาเยาะเย้ยลวนลามท่านขุนตุ๊ดต่างๆ นานา ท่านขุนทนไม่ไหวจึงชักมีดที่ซ่อนไว้แทงนายวอนเข้าให้ แล้ววิ่งหนีลงน้ำทะเล คราวนี้จึงเกิดการปั่นป่วน โดยเจ้าวอนร้องเรียกให้ผู้คุมคนอื่นมาช่วย บรรดานักโทษก็วิ่งออกจากโรงอาหารอันซอมซ่อออกมาดูเหตุการณ์ ปืนกลบนป้อมก็ยิงสนั่นหวั่นไหวไปหมด (แต่ไม่รู้ตั้งใจยิงสกัดใครหรือแค่ยิงขู่กันแน่) นายกลั่นคนขับรถไฟซึ่งมาจากโคราชเช่นเดียวกับขุนชัยชิดพยายามฝ่ากระสุนปืนกล ว่ายน้ำไปช่วยท่านขุนกลับเข้าฝั่ง และแล้วจ่าเผื่อนก็คว้าปืนยาวมายิงขุนชัยชิดกับนายกลั่น ยิงได้แม่นกว่าปืนกลบนหอคอยเป็นไหนๆ ทั้งสองจะตายทันทีหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆคือต้องกลายเป็นเหยื่อฉลามไปในที่สุด สกลไม่พอใจจนเกิดเรื่องชกต่อยกับเผื่อนแต่สู้เผื่อนไม่ได้ถูกชกสลบไป พอดีผู้บัญชาการโผล่มาห้ามไม่ให้เผื่อนทำร้ายสกลมากกว่านั้น จึงเรียกนักโทษที่เหลือมาประชุมชี้แจง จากนั้น สกลถูกขังเดี่ยวกลางแดดจนค่ำ จึงถูกนำกลับมารวมกับเพื่อนนักโทษในโรงนอน
สองพระเอกคู่กัดถูกมัดกลางน้ำ
ผู้กองสกลทำท่าเหมือนจะหมดฤทธิ์อยู่ครู่หนึ่งก็หาเรื่องเยาะเย้ยถากถาง พรายหรือพันโทหลวงพิษณุรักษ์เสนาต่อจากที่เคยเถียงกันมาก่อนบนเรือ เรื่องมันมีอยู่ว่าในเหตุการณ์กบฎบวรเดชนั้น ผู้กองสกลเป็นผู้บังคับหน่วยปืนกลจากโคราชที่ได้เข้ามาต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล อย่างดุเดือด ส่วนพันโทหลวงพิษณุรักษ์เป็นนายทหารเสนาธิการจากพิษณุโลกที่เดิมจะต้องเข้า มาช่วยทัพจากจังหวัดอื่นเข้ายึดกรุงเทพฯด้วยกัน แต่หลวงพิษณุรักษ์ตัดสินใจถอนกำลังกลับเพราะทหารจากหัวเมืองทางใต้ไม่มาเข้า ร่วม กำลังทางโคราชก็หยุดอยู่แค่ดอนเมือง จึงไม่มีทางชนะแน่ แต่สกลเห็นว่าเป็นการตัดสินใจทิ้งเพื่อนในยามคับขันอย่างคนขี้ขลาด และโยงไปถึงเรื่องที่หลวงพิษณุรักษ์หรือพรายพยายามห้ามปรามสกลไม่ให้ช่วย เพื่อนมาหลายครั้งก็เพราะความขี้ขลาดและกลัวสกลจะเด่นเกินหน้า พูดไปพูดมาจนกระทั่งเกิดการชกต่อยกันอีกจนได้ จ่าเผื่อนเข้ามาจัดการสงบศึกและจับพรายกับสกลใส่กุญแจมือไว้ด้วยกัน แต่สกลก็ฉวยโอกาสทีเผลอลากพรายหนีออกมาด้วยกันได้อย่างเหลือเชื่อ ทั้งสองวิ่งหนีกันไปทะเลาะกันไปในป่าลึกพอสมควร จนในที่สุดก็ถูกจ่าเผื่อนจับได้อีก คราวนี้จ่าเผื่อนจับคนทั้งสองมัดไว้กับเสาต้นหนึ่งกลางน้ำรอเวลาให้จระเข้ เข้ามากิน แล้วเอาพระเครื่องของทั้งสองพระเอกไปให้ท่านขุนอะไรก็ไม่ทราบคนที่เป็นผู้ บัญชาการซึ่งบ้าพระเครื่องเป็นชีวิตจิตใจ แล้วอย่างนี้สองพระเอกคู่กัดของเราจะรอดได้อย่างไร?
สองนางเอกมาพบพระเอกขณะกำลังจะเป็นเหยื่อจระเข้
ป้าเปี๊ยกเราตอนนั้นนอกจากจะยังสาวยังสวยแล้ว ยังมีแรงสู้กับจระเข้ด้วย 555!
ทางหนึ่งบรรดาเพื่อนนักโทษได้ขอให้หมอปรีชา นายแพทย์ประจำเกาะช่วยนำพระเครื่องไปติดสินบนผู้บัญชาการบ้างเพื่อให้หมอ สามารถทำหน้าที่สืบข่าวและช่วยเหลือทั้งสองพระเอก อีกทางหนึ่งพอดีจังหวะที่บุหงาลูกสาวนายหมีชาวบ้านที่ทางการอนุญาตให้อาศัย บนเกาะกับตันหยง หญิงสาวที่นายหมีเลี้ยงต้อยไว้หวังจะทำเมียเข้ามาพบสองพระเอกถูกมัดกลางน้ำ และจระเข้กำลังจะเข้าไปจัดการอยู่พอดี บุหงาซึ่งชาติก่อนจะเป็นไกรทองหรือตะเภาแก้วตะเภาทองก็ไม่ทราบจึงได้ชักมีด ลงไปสู้กับจระเข้อย่างไม่คิดชีวิต ตันหยงเลยต้องพลอยลงไปช่วยแก้มัดสองพระเอกแล้วพากันมารุมสกรัมเจ้าจระเข้ เคราะห์ร้ายแล้วพาบุหงาที่ถูกจระเข้ฟาดหางสลบกลับมายังบ้านของนายหมีผู้เป็น พ่อของบุหงา ทีแรกตันหยงก็แสดงอาการรังเกียจผู้ชายและหึงหวงบุหงาที่เริ่มจะชอบพ่อพราย ออกหน้าออกตา ไปๆมาๆก็สองคู่พระคู่นางก็จับคู่เลิฟซีนกันซะอย่างนั้น ขณะกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม นายหมีก็โผล่เข้ามาขัดขวางซะก่อน แล้วหมอปรีชาก็มาห้ามนายหมีอีกที เฮ้อ! เอาเป็นว่าหมอปรีชาก็สามารถนำสองพระเอกของเรากลับไปอยู่กับเพื่อนนักโทษได้
สภาพเรือนนอนที่พระเอกของเราสู้กันไม่กี่ทีก็แทบจะพังหมด
เพื่อไม่ให้เยิ้นเย้อเกินไป ผมจะขอข้ามประเด็นย่อยๆ มาเล่าเฉพาะเรื่องความพยายามหนีของบรรดานักโทษก็แล้วกันครับ ครั้งแรกพรายได้วางแผนให้พรรคพวกจัดหามะพร้าวแห้งจำนวนประมาณ 40 ลูกต่อคนกับร่างแหที่จะทำเป็นแพสำหรับแต่ละคนใช้เดินทางในทะเล แต่บุหงาซึ่งแอบได้ยินพรายพูดคุยกับเจ้าคุณสราวุฒิแต่แรกแล้วไม่อยากให้ พระเอกของเราจากไป ได้แอบมาขโมยมะพร้าวแห้งและร่างแหไปทิ้งเสีย ผลของการที่แผนล้มเหลวทำให้นักโทษสองคนคือหลวงจักรกับขุนราชกิจหนีเตลิดไป ถูกกับดักของผู้คุมถึงแก่ความตาย เมื่อพรายรู้เข้าก็โกรธบุหงาอย่างมาก ต่อมาเจ้าคุณสราวุฒิได้วางแผนให้หมอปรีชานำเงินไปว่าจ้างนายหมีนำเรือพาหนี ออกไปตอนกลางคืน และแล้วจ่าเผื่อนกับพวกได้กระทำทารุณนักโทษขณะให้ทำงานตัดไม้จนเกิดการ ต่อสู้กัน นักโทษส่วนหนึ่งถูกฆ่าตาย อีกกลุ่มหนึ่งหลบเข้าป่าไปเตรียมตัวหนีออกจากเกาะโดยไม่ทราบว่านายหมีได้แอบ ส่งข่าวให้จ่าเผื่อนแล้ว จ่าเผื่อนให้ลูกน้องไปเอาตัวหมอปรีชามาทรมาน ผู้บัญชาการมาพบเข้าก็ถูกเผื่อนสังหาร จากนั้นก็เกิดการตามล่าและการต่อสู้กันระหว่างนักโทษที่จะหลบหนีจากเกาะกับ บรรดาผู้คุม แม้ว่าจ่าเผื่อนจะต้องเป็นผู้ร้ายตายตอนจบ แต่ฝ่ายพระเอกก็ต้องแลกด้วยชีวิตของหมอปรีชา ตันหยง และร้อยเอกสกลเช่นกัน มีนักโทษขึ้นเรือหนีไปถึงเกาะลังกาวีได้ 5 คน บวกกับบุหงานางเอกของเราที่เกาะแพมะพร้าวที่ลากมากับเรือด้วย
โรงอาหาร
สุขา
ถึงแม้ภาพยนตร์จะกล่าวอ้างตั้งแต่ไตเติ้ลเรื่องว่า "สร้างจากเรื่องจริง" แต่ในทัศนะของผม ควรจัดอยู่ในประเภทภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เท่านั้นครับ แม้ว่าในประวัติศาสตร์จะได้มีการนำนักโทษการเมืองจากคดีกบฎบวรเดช และกบฏนายสิบ ไปกักขังอยู่ ณ เกาะตะรูเตาจริงๆ แต่การสร้างบทภาพยนตร์นั้นเห็นได้ชัดว่าปรุงแต่งขึ้นมาตามความนิยมของหนัง ไทยสมัยก่อนที่ต้องมีเรื่องบู๊ๆ เข้าไว้ จนคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก เท่าที่ผมพอจะค้นคว้าได้ มีข้อเท็จจริงบางประการที่ท่านควรทราบไว้ประกอบการชมภาพยนตร์ ได้แก่
- วันเวลาที่นักโทษการเมืองมาถึงและหลบหนี นักโทษการเมืองได้ถูกเคลื่อนย้ายจากแดน 6 มาถึงเกาะตะรุเตาในวันที่ 16 กันยายน 2482 หลังจากนั้นเพียงเดือนเดียว ในคืนวันที่ 18 ตุลาคม นักโทษจำนวน 5 คน (ดังรายชื่อที่จะกล่าวในตอนต่อไป) ได้หลบหนีออกจากเกาะโดยติดสินบนผู้คุมและจ้างเรือไปขึ้นฝั่งที่เกาะลังกาวี ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมของอังกฤษ ในช่วงเวลาดังกล่าวสงครามมหาเอเชียบูรพายังไม่เกิด จึงเป็นไปไม่ได้ที่บรรดานักโทษจะเห็นฝูงบินญี่ปุ่นบินผ่านเกาะดังในภาพยนตร์
- ภาพยนตร์กล่าวว่ามีการขนย้ายนักโทษมาโดยรถไฟจำนวน 54 คน ตายไป 10 คน ร่อแร่ 5 คน (ซึ่งคงจะตายด้วยนั่นแหละ) คงเหลือเพียง 39 คน ถูกยิงตายที่สถานี 1 คน เหลือเดินทางไปที่เกาะตะรุเตา 38 คน แต่จากการค้นคว้าของปองพล อดิเรกสาร ระบุว่ามีนักโทษการเมืองบนเกาะ 70 คน แต่หารายชื่อได้เพียง 59 คน
- นักโทษที่หลบหนีมีทั้งหมด 5 คน คือ พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวนิช) พระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) ขุนอัคนีรถการ (อั๋น ไชยพฤกษ์) นายหลุย คีรีวัต และนายแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ ผู้มีความรู้ด้านโหราศาสตร์ และสอนวิชานี้ให้กับเพื่อนนักโทษมาตั้งแต่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นผู้หาฤกษ์ยามสำหรับการหลบหนี ในด้านการดำเนินการนั้น ได้มีการจ้างให้นายหมี ศรีวิโรจน์ ชาวเกาะที่ทางราชการให้อาศัยบนเกาะ กับนายแถว เชาวนาศัย ผู้คุมซึ่งเป็นลูกเขยนายหมีเป็นคนดำเนินการ ด้วยการว่าจ้างเป็นเงิน 5,000 บาท เป็นอันว่านายหมีมีตัวตนจริง แต่ไม่ได้เป็นว่าที่พ่อตานักโทษการเมืองรายใด ไม่ได้เป็นผู้ทรยศต่อคณะผู้หลบหนีจนเกิดการต่อสู้วุ่นวายแต่อย่างใด และไม่ทราบว่าบุตรสาวท่านจะเป็นไกรทองหญิงหรือเปล่า
- ความโหด ร้ายทารุณต่อบรรดานักโทษ นับตั้งแต่การขนนักโทษแบบเบียดเสียดยัดเยียดกันมาในรถไฟนั้น บทความที่ผมพอหาได้บอกว่าเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้กล่าวถึงว่ามีการเจ็บป่วยล้มตายหรือไม่ ส่วนการปฏิบัติของบรรดาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่นำโดยจ่าเผื่อนต่อนักโทษที่ ทั้งดุด่านักโทษอย่างหยาบคายและมีการลงโทษอย่างโหดเหี้ยมพร้อมจะยิงทิ้ง ทันทีราวกับผักปลานั้น ก็ไม่สอดคล้องกับข้อความที่ระบุว่า เดิมทีกรมราชทัณฑ์ไม่ได้เข้มงวดกับนักโทษการเมืองมากนัก ค่อนข้างจะให้เกียรติและให้อิสระกับนักโทษการเมืองเหล่านี้ด้วยซ้ำ จนกระทั่งนักโทษทั้ง 5 คนหลบหนีออกไปได้ดังกล่าว จึงเริ่มมาเข้มงวดกับคนที่เหลือมากขึ้น และความโหดร้ายที่จริงนั้น มาจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆและความอดอยากขาดแคลน มากกว่าที่จะมาจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์
- บทพูดบางตอนมีการกล่าวถึงนักโทษกลุ่มอื่นๆ รวมถึงนักโทษหญิงบ้างเล็กน้อย แต่ตลอดทั้งเรื่องมีแต่เรื่องราวของนักโทษการเมืองเท่านั้น
ตัวละครที่มีตัวจริงในประวัติศาสตร์เท่าที่พอนึกออก มีดังนี้
- พระยาสราวุฒิวิจารณ์ รับบทโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์ ตัวจริงคือ พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวนิช) ประวัติของท่านมีในวิกิภาษาไทยครับ
หมอปรีชา (ซ้าย) มาตรวจอาการของ ไท บุญเปี่ยม (ขวา)
- ไท บุญเปี่ยม บรรณาธิการและนักเขียนที่เป็น โรคท้องมาร ผมเคยอ่านเรื่องเกี่ยวกับตะรูเตาในวารสารเก่าเล่มหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดคือ "ฟ้าเมืองไทย" กล่าวว่ามีนักโทษคนหนึ่งเป็นโรคท้องมาร แต่จำชื่อจริงของท่านไม่ได้ จำได้แต่ว่าในบทความดังกล่าวเล่าว่าตอนที่ท่านต้องลงมือเจาะท้องตัวเองให้ หนองมันไหลออกมาเพราะไม่มีหมอมารักษานั้น ท่านใช้ตะปูที่สนิมเขรอะไม่ใช่เหล็กที่ดูเงางามอย่างในหนัง และภายหลังดูเหมือนจะเสียชีวิตด้วยโรคบาดทะยัก ไม่ใช่ถูกผู้คุมยิง
- โหรเฉลา รับบทโดย สีเทา ตัวจริงคือ โหรแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ โหรชื่อดังท่านหนึ่งในอดีตดังปรากฏเรื่องราวในศิลปวัฒนธรรมฉบับที่อ้างถึงข้างท้าย
หลวงสรรพจนานุกิจ (คนกลาง) ขณะเขียนปทานุกรม
- หลวงสรรพจนานุกิจ นักโทษที่มีงานอดิเรกใน การเขียนพจนานุกรม ตัวจริงนั้นมีบรรดาศักดิ์สุดท้ายก่อนลาออกจากราชการ เมื่อพฤศจิกายน 2475 ก่อนเกิดกบฎบวรเดช คือ "หลวงมหาสิทธิโวหาร" หรือในชื่อที่เรายังคงได้ยินชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้ ก็คือ "สอ เสถบุตร" นั่นเอง หากยังไม่ทราบประวัติของท่านและความเป็นมาของพจนานุกรมของท่านที่ปัจจุบัน ยังคงมีอยู่กระทั่งในรูปแบบอิเล็คทรอนิคส์ ก็หาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิงค์ข้างท้ายครับ
ผู้บัญชาการขณะอบรมนักโทษ
- ผู้บัญชาการที่ในหนังได้ยินเรียกเพียงว่า "ท่านขุน" นั้น น่าจะเป็นคนเดียวกับ ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ ที่คุณปองพล อดิเรกสาร เล่าไว้ในหนังสือเรื่อง "โจรสลัดแห่งตะรุเตา" นั่นเอง แน่นอนว่าท่านไม่ได้ถูกลูกน้องยิงตายอย่างที่ในหนังแต่งเรื่องขึ้นมาเสริมความร้ายกาจของจ่าเผื่อนตามสไตล์หนังไทยยุคนั้น
ไอ้หมี ในเรื่องกับปืนเมาเซอร์คู่ใจ
- ไอ้หมี รับบทโดย ภิภพ ภู่ภิญโญ ตัวจริงก็คือ นายหมี ศรีวิโรจน์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะตะรูเตาดังกล่าวข้างต้น
แนวคิดทางประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยจะยุติธรรมกับคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เท่าไหร่นัก โดยในคำบรรยายเริ่มแรกกล่าวว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีการกวาด ล้างจับกุมผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่างขนานใหญ่ คนที่รู้ประวัติศาสตร์ไม่แข็งแรงอาจจะเข้าใจไปว่าคณะราษฎรอยู่ในประเภทเดียว กับพรรคฟาสซิสต์นาซีอะไรประมาณนั้น แม้จะมีการกวาดล้างคล้ายๆ กับที่กล่าวอ้างอยู่จริง แต่การกล่าวอย่างรวบรัดและเหมารวมแบบนั้นดูจะไม่สอดคล้องกับความแตกแยกและ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในคณะราษฎรหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และภาพยนตร์ยังได้สร้างความเลวร้ายผ่านจ่าเผื่อนกับพรรคพวกนั้นก็ราวกับจะ ให้คนเหล่านี้เป็นตัวแทนความเลวร้ายของการปกครองภายหลัง 2475 แต่ในภาพยนตร์เองก็บอกอยู่ว่าบรรดานักโทษการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกจับ เนื่องจากเหตุการณ์กบฎบวรเดช ซึ่งสัจจธรรมของการแย่งชิงอำนาจก็คือ "ชนะเป็นเจ้า แพ้เป็นโจร" ในเมื่อท่านเหล่านั้นอยู่ฝ่ายที่ยึดอำนาจไม่สำเร็จก็ต้องถูกจับเป็นธรรมดา หากเป็นผู้บริสุทธิ์ที่โดนจับแบบเหวี่ยงแหก็ว่าไปอย่าง แถมยังมีบันทึกแย้งด้วยว่าทางการเขาให้เกียรตินักโทษการเมืองเหล่านี้ อย่างน้อยก็ในระยะแรก ไอ้ที่จะถึงขนาดด่าว่าหยาบๆคายๆ เตะถีบและยิงทิ้งเป็นผักปลานั้น น่าจะเว่อเกินไป
น่าสังเกตด้วยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในตอนต้นปี 2519 คือน่าจะสร้างในปี 2518 อันเป็นช่วงที่การเมืองมีการแบ่งแยกเป็นซ้ายเป็นขวาอย่างรุนแรงจนกลายเป็น เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ไปในที่สุด ด้านผู้เขียนบทคือท่าน ส.อาสนจินดา ศิลปินแห่งชาติ นั้น ผมจำได้ว่าช่วงนั้นท่านก็เป็นหนึ่งในบรรดานักเขียน "ขวาจัด" คนหนึ่งด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงคล้ายจะแฝงนัยยะทางการเมืองในช่วงนั้นที่ฝ่ายขวาจัดมี แนวคิดว่า ฝ่ายซ้ายหรือพวกที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยนั้นก็ไม่ได้ดิบดีอะไร หรือการมีประชาธิปไตยมีเสรีภาพมากเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งดี อะไรปานนั้น ในปัจจุบันแม้จะไม่มีใครพูดอะไรแบบนั้นออกมาตรงๆ แต่ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ยังไม่เคยได้รับการยกย่องอย่างแท้จริงสักที
สองพระเอกกระโดดหนีจากน้ำตกหนีการตามล่าของผู้คุม
โดยรวมแล้ว ผมจึงเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพียงภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจ คาดหวังข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์การควบคุมนักโทษที่เกาะตะรุเตาหรือตะรู เตาได้สักเท่าไหร่ นอกจากการศึกษาแนวคิดทางการเมืองของผู้สร้าง/ผู้เขียนบทที่แฝงอยู่ใน ภาพยนตร์ ถ้าจะดูกันเล่นๆ เพลินๆ ก็ต้องทนกับบทผู้ร้ายเว่อๆ แบบหนังไทยทั่วไปสักนิด และมีฉากวาบหวิวให้ดูกันแว้บๆ ที่ไม่ได้น่าเกลียดอะไรมากนัก แต่ Capture มาให้ดูไม่ได้นะครับ ขอให้หาดูจากในแผ่นกันเอาเอง ภาพธรรมชาติสวยๆ บนเกาะก็มีอยู่ตลอดเรื่อง
คำคมชวนคิด
- "ผู้รักชาติที่ร้อนแรงน่ะ มีที่อยู่ 2 แห่ง ถ้าไม่ได้เข้าไปนั่งในพระที่นั่งอนันตสมาคม ก็ต้องไปอยู่ในนรก" หลวงสรรพจนานุกิจพูดกับเพื่อนนักโทษบนรถที่จะนำออกจากสถานีรถไฟ เมื่อเผื่อนได้ยินเข้าก็บอกว่าที่ที่จะพาไปนี้ไม่ใช่พระที่นั่งอนันตสมาคม แต่เป็น "ตะรูเตา"
- "เก็บเอาสังขารที่สมบูรณ์ไปสู้กับความทารุณบนเกาะดีกว่า" และ "ถ้าแกคิดว่าขึ้นบนเกาะนั้นแล้วมันยังเป็นนรกไม่พอ จะกระทืบกันให้ลำเค็ญหนักขึ้นไปอีก ก็ได้" พันโทหลวงพิษณุรักษ์เสนาพูดกับร้อยเอกหลวงสกลสมรรถการขณะอยู่บนเรือที่แล่นไปยังเกาะตะรูเตา
- "ที่ นี่ไม่มีท่านขุน ไม่มีคุณหลวง,คุณพระ ยศถาบรรดาศักดิ์โยนทิ้งไว้ที่ทะเล ผู้ต้องขังทุกคนมียศเสมอกันคือ นักโทษกบฎ ทางออกที่ถูกต้องมีสองทางคือ ทางเรือเมื่อพ้นโทษ และฝังดินเมื่อเสียชีวิต และขอบอกรายละเอียด สำหรับผู้คิดหนี 9 ไมล์ทะเลถึงเกาะลังกาวี แต่จะถูกส่งกลับมาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และ 80 ไมล์ทะเลถึงฝั่งสตูล ถ้าสามารถฝ่าดงฉลามไปได้" ท่านขุนผู้บัญชาการบนเกาะตะรูเตากล่าวกับบรรดานักโทษการเมือง
- " ประชาธิปไตยมันอัดแน่นอยู่เต็มพุงผมเต็มทีแล้ว เชื่อมั๊ยหมอ มันมาจากกรุงเทพฯ หนีเข้ามาอยู่ในท้องผม ที่กรุงเทพฯมีแต่เผด็จการ ไม่มีประชาธิปไตย" ไท บุญเปี่ยม กล่าวกับหมอปรีชา
- " ผมเป็นนักการเมือง นักการเมืองไม่สกปรกไม่มี ผมเป็นบาดทะยักดีกว่าบ้านเมืองเป็นบาดทะยัก นักเขียนหนังสือพิมพ์อย่างผม โน่น ไปรับเหรียญเกียรติยศที่เชิงตะกอนโน่น" ไท บุญเปี่ยม กล่าวกับหมอปรีชา หลังจากใช้เหล็กเจาะท้องตัวเองเพื่อเอาหนองออกเพราะหมดหวังกับการรอคอยการรักษาจากแผ่นดินใหญ่
- "ตายเพราะความรักดีกว่ามีชีวิตอยู่บนความทุกข์" หมอปรีชาบอกให้บุหงาเพื่อให้หนีจากเกาะไปกับคณะนักโทษก่อนที่ตัวเองจะสิ้นใจตาย
ชื่อเรื่องภาษาไทย : นรกตะรูเตา
ชื่อภาษาอังกฤษ : TA RU TAO
เรื่องเดิม : ในไตเติ้ลเรื่องมีข้อความว่า "สุมนทิพย์ สร้างจากเรื่องจริง" ยังไม่ทราบว่า "สุมนทิพย์" เป็นใคร และเขียนเรื่องนี้เป็หนังสือหรืออย่างไร?
ผู้กำกำกับ : รุจน์ รณภพ, จรัล พรหมรังษี (ผู้ช่วยกำกับการแสดง)
ผู้อำนวยการสร้าง : อัญชลี ชอบประดิษฐ์ (ชื่อจริงของ อรัญญา นามวงศ์)
ผู้เขียนบท : ส.อาสนจินดา
ผู้แสดง :
- สมบัติ เมทะนี - พันโทหลวงพิษณุรักษ์เสนา
- นาท ภูวนัย - ร้อยเอกสกลสมรรถการ
- อรัญญา นามวงศ์ - บุหงา
- ศิริขวัญ นันทศิริ - ตันหยง
- มานพ อัศวเทพ -หมอปรีชา
- อดุลย์ ดุลยรัตน์ - พระยาสราวุฒิวิจารณ์
- ภิภพ ภู่ภิญโญ - นายหมี
- บุญส่ง ดวงดารา
- บู๊ วิบูลย์นันท์
- สีเทา - เฉลา ตาทิพย์
- ขวัญ สุวรรณะ - หลวงสรรพจนานุกิจ
- เทอด ดาวไท
- กฤช เนาวกานต์
- ม.ล.โกมล ปราโมช
- สมชาย สามิภักดิ์
- สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม
- ถวัลย์ คีรีวัฒน์ - กลั่น
- พีระพล ปิยะวรรณ
- เชษฐ์ อนุชิต
- เมือง มาระตี
- พิศ พวงเพชร
- บุญส่ง คงล้อมญาติ
- ฉกาจ ปุควนิจย์